กรุงเทพ – 21 กุมภาพันธ์ 2562, บมจ. สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (“SPRC”), มร. ทิโมธี อลัน พอตเตอร์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เปิดเผยผลการดำเนินงานและผลประกอบการทางด้านการเงินของบริษัทฯ สำหรับไตรมาสที่ 4/2561 และประจำปี 2561 โดยในไตรมาสที่ 4/2561 บริษัทฯ ขาดทุนสุทธิ 118 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3,881 ล้านบาท) เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 3/2561 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,248 ล้านบาท) และในภาพรวมปี 2561 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิรวม 74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2,263 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับปี 2560 จำนวน 261 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (8,895 ล้านบาท)
สำหรับกำไรสุทธิในไตรมาสที่ 4/2561 และตลอดปี 2561 ลดลง เนื่องจากบริษัทฯ ได้รับผลกระทบหลักจากค่าการกลั่นทางการตลาดที่ลดลง การขาดทุนจากสต๊อคน้ำมัน และการขาดทุนจากการปรับลดมูลค่าสินค้าคงเหลือเป็นมูลค่าที่คาดว่าจะได้รับ แต่อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสที่ 4/2561 บริษัทฯ ยังคงมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ในระดับสูงถึง 100% ของกำลังการกลั่นน้ำมัน หรือ 165.3 พันบาร์เรลต่อวัน และประสบความสำเร็จในการปฏิบัติ งานอย่างปลอดภัยโดยไม่มีการบาดเจ็บถึงขั้นหยุดงานสูงถึง 18.1 ล้านชั่วโมง เป็นระยะเวลา 5.5 ปี และ 2.3 ล้านชั่วโมงนับจากการเกิดการบาดเจ็บขั้นบันทึกครั้งสุดท้ายที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัทฯ ครั้งที่ 1/2562 ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562 ได้มีมติเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญ ประจำปี 2562 ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 10 เมษายน 2562 ในการงดจ่ายเงินปันผลสำหรับงวดการดำเนินงาน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้มีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลแล้ว เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งจำนวนเงินปันผลที่จ่ายนั้นสูงกว่ากำไรสุทธิทั้งหมดของปี
มร. ทิโมธี แจ้งให้ทราบว่า SPRC วางแผนเพื่อทำการปิดซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2562 ถึงเดือนธันวาคม 2562 โดยที่ระยะเวลาในการปิดซ่อมบำรุงจะสอดคล้องกับการปิดซ่อมในครั้งที่แล้ว SPRC จะแจ้งให้ทราบถึงระยะเวลาที่แน่นอนอีกครั้งในไตรมาสที่ 2/2562 SPRC ปิดซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557 และในครั้งนี้ SPRC มีการวางแผนดำเนินงานเป็นอย่างดี เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดผลกระทบต่อลูกค้าและความต้องการใช้น้ำมันภายในประเทศ โดยในระหว่างการปิดซ่อมบำรุงใหญ่ในครั้งนี้ SPRC จะทำการปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มความเชื่อถือได้ และให้เป็นไปตามข้อกำหนดด้าน สิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ สามารถปฏิบัติงานด้วยความปลอดภัยและมีความเชื่อถือได้สูง สามารถดำเนินการกลั่นน้ำมันดิบได้หลากหลาย ขยายระยะเวลาในการซ่อมบำรุง สามารถรักษาระดับความพร้อมใช้ของหน่วยการผลิต (Operation Availability – OA) และอัตราการกลั่นที่ใช้จริง (Utilization of Equivalence Distillation Capacity – UEDC) ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ สามารถมีผลการปฏิบัติงานอยู่ในระดับต้น ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับโรงกลั่นน้ำมันในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคและคาบสมุทรอินเดีย
นอกเหนือจากการปิดซ่อมบำรุงใหญ่แล้ว SPRC ยังมีโครงการเพิ่มกำลังการผลิตในหน่วยกลั่นน้ำมันดิบ (Crude Distillation Unit – CDU) และหน่วยผลิตปลายน้ำอื่น ๆ จาก 165,000 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นเป็น 175,000 บาร์เรลต่อวัน ตามที่เคยแจ้งให้ทราบก่อนหน้านี้ โดยคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ทันทีหลังจากการเสร็จสิ้นโครงการในเดือนธันวาคม 2562 โดยมีงบประมาณสำหรับโครงการเพิ่มกำลังการผลิต การปิดซ่อมบำรุงใหญ่ และการปรับ ปรุงประสิทธิภาพต่าง ๆ ในปี 2562 ประมาณ 256 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และบริษัทฯ คาดว่าจะไม่มีการเพิ่มทุน ใด ๆ จากการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น SPRC ยังคงมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจในประเทศไทย และแสวงหาโอกาสต่าง ๆ ที่จะขยายช่องทางธุรกิจ, มร. ทิโมธี กล่าว
———————————————————————————————–