“9 นาฬิกา99 นาที” หรือเวลา10.39 น. ในวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้ลำแสงของดวงอาทิตย์จะต้องส่องผ่านเข้ามากระทบกระจกสะท้อนลงมาที่พระบรมรูปรัชกาลที่ 9 ทรงบาตร ที่ตั้งอยู่ภายในห้องโถงหอธรรม ร.9 ของสถานปฏิบัติธรรมศศิภาวัน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมาได้อย่างแม่นยำ พร้อมกับเสียงกังวานของระฆังที่ถูกตีขึ้นโดยอัตโนมัติจำนวน 9 ครั้ง เพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ของสถานปฏิบัติธรรมแห่งนี้ เป็นผลงานที่เกิดจากความตั้งใจของทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่นำองค์ความรู้ของศาสตร์ด้านการออกแบบแสงธรรมชาติร่วมกับสถาปัตยกรรม และศาสตร์ทางด้านวิศวกรรม มาสร้างสรรค์ผลงานเกิดเป็นปรากฏการณ์ของแสงและเสียงขึ้นพร้อมกันได้อย่างลงตัว ตามโจทย์ของสถาปนิกเจ้าของโครงการ
ผศ.ดร.จรรยาพร สไตเลอร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและนวัตกรรมการส่องสว่าง หรือศูนย์ LRIC คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มจธ. เปิดเผยว่า ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นจากแนวคิดของคุณนิธิ สถาปิตานนท์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาสถาปัตยกรรมร่วมสมัย และผู้ก่อตั้งสถาปนิก 49 ที่ต้องการใช้แสงธรรมชาติส่องเป็นลำแสงลงมาที่พระบรมรูป ร.9 ในเวลา 9 นาฬิกา 99 นาที หรือเวลา 10 นาฬิกา 39 นาทีในวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี
ในฐานะของที่ปรึกษาด้านแสงธรรมชาติ ผศ.ดร. จรรยาพร กล่าวว่า เนื่องจากแสงธรรมชาติ แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ Direct Sunlight หรือแสงจากดวงอาทิตย์โดยตรง กับ Skylight หรือแสงที่เกิดจากการฟุ้งกระจายที่ไม่ทำให้เกิดเงาชัดเจน และเป็นแสงที่ใช้ในการสร้างความสว่างให้กับภายตัวอาคารมากกว่าแสงชนิดแรก เพราะทำให้เกิดความร้อนในตัวอาคารน้อยกว่า และสบายตากว่า แต่ในหอธรรม ร.9 แห่งนี้ ศูนย์ LRIC ได้เลือกที่จะใช้ Direct Sunlight เพราะต้องการให้เกิดลำแสงตกกระทบลงบนพระรูป เพื่อเผยให้เห็นความงามจากมิติของแสงและเงา
“นอกจากการคำนวณองศาของดวงอาทิตย์ในเวลา 10.39 น. ของวันที่ 5 ธันวาคม กับขนาดและตำแหน่งที่ติดตั้งกระจก รวมถึงทิศทางและขนาดของช่องบนหลังคา เพื่อให้แสงอาทิตย์ตกกระทบบนกระจกเงาแล้วสะท้อนลงมาบนพระบรมรูปในเวลาที่กำหนด และยังต้องออกแบบให้ลำแสงลงไม่ฟุ้งกระจาย ถือเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างท้าทาย และถือเป็นบทบาทของศูนย์ฯ และมหาวิทยาลัยที่ได้รับเกียรติอย่างมากจากบริษัทสถาปนิก 49 ที่ให้โอกาสในการเป็นที่ปรึกษาด้านการออกแบบแสงธรรมชาติในโครงการนี้”
ผศ.ดร.จรรยาพร กล่าวว่า ตลอด 2 ปีของการทำงาน มีการคำนวณ และทดสอบ ทั้งในคอมพิวเตอร์ และสถานที่จริง โดยการจำลององศาแสงอาทิตย์ด้วยคอมพิวเตอร์ ทำ model ย่อขนาดของโถง พระบรมรูป (พิมพ์ด้วยระบบ 3D) พร้อมกับกระจกติดตั้งอยู่ข้างใน เริ่มจากสเกลขนาดเล็กก่อนแล้วค่อยขยายขึ้นเป็นขนาด 1 ต่อ 10 และทดสอบแสงตกกระทบใน Sky dome ขนาด 5.50 เมตร โดยการจำลองให้แสงพระอาทิตย์ขึ้นวันที่ 5 ธันวาคมตกลงบนกระจกในเวลาที่กำหนด เพื่อดูว่าแสงตกกระทบถูกต้องและตรงจุดหรือไม่ จากนั้นจึงมีการติดตั้งจริงเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว และรอพิสูจน์ผลจริงในวันที่ 5 ธันวาคม 2564 นี้
คุณอนุชิต สุคนธทรัพย์ จากบริษัท สถาปนิก 49 จำกัด กล่าวถึงจุดประสงค์หลักของการทำโครงการนี้ว่า เนื่องจากคุณนิธิ ซึ่งเป็นเจ้าของแนวความคิดต้องการจะออกแบบอาคารโดยใช้แสงธรรมชาติ โดยในส่วนของโถงพระบรมรูปรัชกาลที่ 9 มีแนวคิด คือ จะต้องใช้แสงธรรมชาติ ส่องเป็นลำแสงจากด้านบนของอาคาร สะท้อนกระจกลงมาบนพระบรมรูปจากพระพักตร์เบื้องซ้ายไล่ลงมาจนถึงพระบาท ในเวลา 9 นาฬิกา 99 นาที หรือ 10 นาฬิกา 39 นาที พร้อมกับเสียงระฆังดังขึ้น 9 ครั้ง และเพื่อให้พระบรมรูปรัชกาลที่ 9 ทรงบาตร เป็นที่จดจำ จึงเลือกวันคล้ายวันพระราชสมภพ คือวันที่ 5 ธันวาคมและกำหนดให้เวลานี้ของทุกปี จะเกิดปรากฏการณ์ทั้งแสงธรรมชาติและเสียงขึ้นพร้อมกัน
“เนื่องจากเวลาที่กำหนดเป็นช่วงเวลาเช้า มุมของดวงอาทิตย์จะค่อนข้างต่ำ ไม่สามารถทำให้แสงแดดจากปล่องหรือช่องด้านบนหลังคาลงมาที่พระพักตร์ที่อยู่ด้านล่างได้พอดี จึงต้องออกแบบการใช้กระจกสะท้อนแสงเข้ามาช่วย และหาตำแหน่งที่เหมาะสม จึงได้เชิญอาจารย์จรรยาพรในฐานะผู้เชี่ยวชาญการออกแบบสถาปัตยกรรมด้วยแสงธรรมชาติและทีมเข้าร่วมโครงการ
ในส่วนของตัวระฆังนั้นถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญในเชิงของสัญลักษณ์ทางเสียง หลังจากที่คิดเรื่องแสงธรรมชาติแล้วก็ต้องการให้เกิดเสียงระฆังดังกังวาลขึ้นโดยไม่ใช้คนตี จึงเป็นที่มาของการตีระฆังด้วยระบบควบคุมอัตโนมัติที่ตั้งเวลาตามที่กำหนดไว้ โดยตัวระฆังทำจากสัมฤทธิ์บริสุทธิ์สั่งหล่อขึ้นเฉพาะ มีการออกแบบตัวระฆังให้เข้ากับบริบทของสถานที่
หลังจากได้ทำการติดตั้งทั้งเรื่องแสงและเสียงเสร็จเป็นที่เรียบร้อยเราก็ได้ทำการพิสูจน์จริงในวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่าเป็นไปตามที่ออกแบบไว้ทุกขั้นตอน แสงที่ปรากฏขึ้นเป็นลำแสงสวยงาม พร้อมกับเสียงระฆังที่กังวานขึ้นอย่างลงตัว ณ เวลาที่กำหนด ถือว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจมาก” คุณอนุชิต กล่าวในตอนท้าย
ผศ.ดร. จรรยาพร กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ มหาวิทยาลัยจะได้ใช้สถานที่แห่งนี้เป็นที่เรียนรู้การออกแบบแสงธรรมชาติร่วมกับงานสถาปัตยกรรมของนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมฯ มจธ. ด้วย เพื่อให้นักศึกษาได้ให้เห็นภาพจริง และให้ความสำคัญกับการออกแบบแสงธรรมชาติมากขึ้น
“แม้ในการออกแบบแสงจะเป็นพื้นฐานของการออกแบบสถาปัตยกรรมอยู่แล้ว โดยเฉพาะTropical Architecture แต่ปัจจุบันจะเห็นนักศึกษานิยมใช้คอมพิวเตอร์ในการออกแบบ ทำให้นักศึกษาอาจไม่เคยเห็นภาพของการใช้แสงธรรมชาติกับงานสถาปัตยกรรมจากของจริง และไม่ค่อยเข้าใจว่าจะเอาผลจากที่เรียนนี้ไปใช้ในการออกแบบได้อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย จึงอยากส่งเสริมเรื่องการออกแบบที่คำนึงถึงแสงธรรมชาติกลับมา เพราะนอกจากความสวยงามและช่วยลดการใช้พลังงานแล้ว งานสถาปัตยกรรมที่ใช้แสงธรรมชาติยังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยบอกเล่าประวัติศาสตร์หรือเรื่องราวต่างๆ ได้อีกด้วย”
ด้าน ดร.ศุภฤกษ์ บุญเทียร อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. กล่าวถึงการติดตั้งระบบตีระฆังอัตโนมัติ ณ สถานปฏิบัติธรรมศศิภาวันว่า จากโจทย์ที่ได้รับ คือ พอเวลา 10.39 น. ของทุกวันที่ 5 ธ.ค. อยากให้มีเสียงระฆังตีเป็นจังหวะสอดคล้องกับรัชกาลที่ 9 และมีความไพเราะ ทำให้นึกถึงจังหวะการตีระฆังที่เหมาะกับหอธรรม ร.9 แห่งนี้ โดยมี 2 โจทย์ที่ต้องคิด คือ โจทย์ทางวิศวกรรม เป็นเรื่องของวิธีหรือลักษณะการตี ระหว่างการตีจากด้านนอก (ตีระฆังแบบไทย) หรือตีจากด้านใน (ตีระฆังแบบฝรั่ง) ตัวอย่างเช่นที่วัดราชประดิษฐ์ฯ และโจทย์ทางศิลปะ เป็นเรื่องของจังหวะการตีแบบไหนให้เข้ากับบรรยากาศและสถานที่
“เนื่องจากสถานที่ติดตั้งระฆังจะถูกแขวนอยู่ภายในห้องโถงของหอธรรม ร.9 จึงเลือกวิธีการตีระฆังจากด้านใน (แบบฝรั่ง) เพื่อความสวยงามส่วนจังหวะการตีเราเลือกจังหวะที่ใกล้เคียงกับที่วัด แต่จังหวะสั้นกว่าเป็นการตีแบบช้าๆ 9 ครั้ง ต่อด้วยจังหวะรัวและตีจบ เมื่อได้รูปแบบและจังหวะการตีแล้ว จึงนำมาสู่การทำตัวระฆัง โดยระฆังที่จัดทำขึ้น เป็นระฆังสัมฤทธิ์ที่เนื้อระฆังถูกระบุให้ผลิตจากทองแดงผสมดีบุก ซึ่งเป็นส่วนผสมเฉพาะหรือที่เรียกว่า Bell Metal ซึ่งจะให้เสียงที่ไพเราะและกังวานกว่าระฆังที่ผลิตด้วยทองเหลืองทั่วไป มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 15 นิ้ว ความหนาของตัวเนื้อระฆัง 1-1.5 นิ้ว มีน้ำหนักประมาณ 60-80 กก. นอกจากตัวระฆังแล้วยังติดตั้งระบบตีระฆังอัตโนมัติ เมื่อถึงเวลาที่กำหนดระบบก็จะเคาะหรือตีเอง”
ดร.ศุภฤกษ์ ยังได้กล่าวถึงหลักการทำงานของระบบว่า เป็นระบบที่มีความซับซ้อนน้อยเพื่อให้การใช้งานไม่ยุ่งยากมากนัก โดยเราใช้ timer เป็นตัวควบคุม และตัว PLC จะทำหน้าที่จ่ายกระแสไฟเป็นจังหวะตามโปรแกรมที่ตั้งไว้ให้กับชุดระฆัง หลังรับสัญญาณจาก timer ซึ่งตัว PLC สามารถโปรแกรมผ่านคอมพิวเตอร์ได้ว่าจะสั่งให้จ่ายไฟช่วงสั้นๆ หรือช่วงเวลาไหนบ้าง โดยทุกครั้งที่จ่ายกระแสไฟจะทำให้เกิดสนามแม่เหล็กที่จะผลักค้อนที่อยู่ด้านในออกไปกระทบกับระฆัง โดยกำหนดจังหวะการตีช้าๆ 9 ครั้ง จำนวน 3 รอบ ระยะเวลาในการตี 55 วินาที โดยปรับระดับความดังของเสียงไว้ไม่เกิน 85 เดซิเบล
ทั้งนี้ ระบบควบคุมการตีระฆังอัตโนมัติ ยังเป็นสิ่งใหม่สำหรับประเทศ เพราะคนไทยยังนิยมตีระฆังด้วยมือ ขณะที่ต่างประเทศมีการผลิตชุดตีระฆังอัตโนมัติสำเร็จรูปขาย แต่ระบบตีระฆังอัตโนมัติที่ มจธ.คิดค้นและพัฒนาขึ้นเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์การใช้งานที่เฉพาะเจาะจง เครื่องมือที่ใช้หาได้ง่ายจากภายในประเทศ หาชิ้นส่วนซ่อมแซมง่าย ไม่ต้องเปลี่ยนทั้งชุด และราคาไม่แพง ทำให้เริ่มเป็นที่ต้องการภายในเพิ่มขึ้น