“ดร.ดวงฤทธิ์” เปิดจัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. โคราช แห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

“ดร.ดวงฤทธิ์” เปิดจัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. โคราช แห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดมุมมองใหม่แห่งการเรียนรู้วิทยาศาสตร์นอกห้องเรียน หวังสร้างแรงบันดาลใจและประสบการณ์ให้เยาวชนในศาสตร์ความรู้ด้านอาชีพผ่านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

9 ธันวาคม 2564 : รองศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีและโฆษกกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดจัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. โคราช มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พร้อมด้วย ดร.พัชรินทร์รุจา จันทโรนานนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ โดยมี นายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายสุรพงษ์ วงศ์ศิริ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ และรองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ให้การต้อนรับและพาเยี่ยมชมจัตุรัสวิทยาศาสตร์ งานดังกล่าวจัดขึ้น ณ อาคารกาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

รศ.(พิเศษ) ดร.ดวงฤทธิ์ กล่าวว่า อว. ถือว่าเป็นหน่วยงานหลักของประเทศที่ผลักดันนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปใช้ให้เกิดการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงประเทศ โดยมีนโยบายสร้างคนในทุกช่วงวัยโดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาพัฒนาคุณภาพชีวิตและขับเคลื่อนประเทศไปสู่อนาคต ซึ่งสิ่งสำคัญในการนำพาการเปลี่ยนแปลงก็คือ “เยาวชน” เราในฐานะหน่วยงานภาครัฐต้องผลักดันศักยภาพของเยาวชนไทย โดยส่งเสริมการเรียนรู้ รวมทั้งผลักดันให้เกิดอาชีพในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม อีกทั้งพัฒนาทักษะสู่อาชีพสะเต็ม ผ่านการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ในภูมิภาคทั่วไทยที่พร้อมสร้างและพัฒนาคนคุณภาพสู่ศตวรรษที่ 21

ดร.ดวงฤทธิ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับแหล่งเรียนรู้ “จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. โคราช” เกิดจากความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ศาสตร์ด้านอาชีพทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เน้นเนื้อหาด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ วิศวกรรมศาสตร์ และการเกษตร โดยเชื่อมโยงกับสาขาวิชาของ ม.เทคโนโลยีสุรนารี ที่จะต่อยอดการเรียนรู้ไปสู่การศึกษาที่เหมาะสมในการพัฒนาประเทศ ถือเป็นการขยายโอกาสทางการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ เปรียบเสมือนเป็นฟันเฟืองในการพัฒนาประเทศสู่อนาคต อีกทั้งยังเป็นแหล่งสร้างความสนุกสนานพร้อมกับการเรียนรู้ให้แก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป

“อว.พร้อมให้การผลักดัน สนับสนุน และเป็นสื่อกลางให้หน่วยงานในสังกัดบูรณาการร่วมกันในการพัฒนาความรู้ ความสามารถ ทักษะ ตลอดจนพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน” เลขานุการรัฐมนตรี กล่าวในตอนท้าย