นายกรัฐมนตรี ตัดช่อลางสาด ผลไม้ประจำถิ่นเกาะสมุย สายพันธุ์ “ลิปะใหญ่”

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา​ นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่อำเภอเกาะสมุย​ จังหวัดสุราษฎร์ธานี​ เป็นประธานในพิธีเปิดท่อส่งน้ำประปาผ่านท่อลอดใต้ทะเลสู่เกาะสมุย​ ณ​ ลานเอนกประสงค์​ ท่าเทียบเรือหน้าทอนเกาะสมุย        พร้อมเยี่ยมชมสวนเกษตรกรผู้อนุรักษ์การปลูกลางสาดผลไม้อัตลักษณ์ประจำถิ่น ตำบลอ่างทอง​ อำเภอเกาะสมุย​ จังหวัดสุราษฎร์ธานี​ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562

โดยการลงพื้นที่ในครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เยี่ยมชมและตัดช่อลางสาด ณ สวนลางสาด ว.ธรรมชาติ​ ของนายประวิทย์​ พรหมรักษ์​ เกษตรกรผู้อนุรักษ์สายพันธุ์ลางสาดดั้งเดิม ซึ่งเป็นผลไม้ประจำถิ่นสายพันธุ์ลิปะใหญ่ ซึ่งมีเอกลักษณ์ที่เเตกต่างจากลางสาดทั่วไปคือ มีความหวาน​​ หอม​ ผลใหญ่​ เปลือกบางไม่มียาง​ เเละมีเมล็ดเล็ก​ การเลือกรับประทานลางสาด เเบ่งเป็น 3 ระยะคือ สุกระยะเเรกรสชาติหวานอมเปรี้ยว​ ระยะกลางรสชาติจืด​ เเละระยะสุดท้าย มีรสชาติ​ หวาน​ ฉ่ำ​ สดชื่น เมื่อเทียบกับลางสาดในเเหล่งอื่นๆ ซึ่งเกิดจากปัจจัย​ทั้งสภาพภูมิประเทศ​ ภูมิอากาศ​ที่ดี จึงทำให้ลางสาดคุณภาพดีโดดเด่นกว่าเเหล่งอื่นๆ  ทั้งนี้ นายประวิทย์ กล่าวว่า​ การทำสวนลางสาด​ได้สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ​ เป็นรุ่นที่ 3 บนที่ดินของตนเองพื้นที่กว่า​ 30​ไร่​ ซึ่งต้นลางสาดมีอายุ 80-100 ปี โดยยึดหลักการดูเเลสวนเเบบธรรมชาติและพึ่งพาอาศัยกันของพืชพันธุ์ไม้​ ไม่มีการปลูกแบบพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งลางสาดเป็นพืชที่ต้องการความชุ่มชื้น จึงสามารถปลูกร่วมกับพืชชนิดต่าง ๆ ได้​ เช่น มะพร้าว ทุเรียน หมาก​ มังคุด ขนุน​ เงาะโรงเรียน​ ​ฯลฯ

ด้านนางดาเรศร์ กิตติโยภาส รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร​ กล่าวว่า การยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นอัตลักษณ์เเละเหมาะสมกับศักยภาพในแต่ละพื้นที่เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ โดยจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้เลือกลางสาดพันธุ์ลิปะใหญ่ เป็นหนึ่งในพืชอัตลักษณ์ของจังหวัดซึ่งจากข้อมูลทะเบียนเกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรเเละสหกรณ์ ในอำเภอเกาะสมุย มีเกษตรกรปลูกลางสาดจำนวน 398 ครัวเรือน​ พื้นที่ปลูก 556 ไร่ ​ให้ผลผลิตในช่วงเดือนมีนาคม-สิงหาคม มีตลาดท้องถิ่นเป็นตลาดหลัก โดยพื้นที่ดังกล่าวไม่มีการส่งเสริมและขยายผล เนื่องจากที่ดินมีราคาสูง จึงสงวนรักษาไว้เป็นเชื้อพันธุ์ต่อไปเพื่อเป็นการอนุรักษ์ไว้ให้อยู่คู่อำเภอเกาะสมุย โดยกรมส่งเสริมการเกษตรมีเเผนดำเนินกิจกรรมประชาสัมพันธ์​ส่งเสริมการบริโภคเเละเชื่อมโยงทางด้านการตลาด​เพื่อยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นอัตลักษณ์ในพื้นที่ของภาคใต้​ต่อไป

**********************************