กรมควบคุมโรค ร่วมมือ WHO ประจำประเทศไทย สู้ Omicron สร้างนักระบาดวิทยาภาคสนาม รับมือภัยสุขภาพในอนาคต

กรมควบคุมโรค ต้อนรับผู้เเทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยคนใหม่หลัง Dr.Daniel Kertesz หมดวาระ พร้อมจับมือร่วมสู้โควิดกลายพันธุ์ตัวใหม่ “Omicron” ที่ไทยตรวจเจอเเละส่งข้อมูลแก่ประเทศต้นทางก่อนเข้าไทยเเล้ว เพื่อเตรียมรับมือต่อไป ด้านผู้เเทนอนามัยโลกไทยคนใหม่ ชื่นชมเเละเชื่อมั่นว่าไทยจะบรรลุเป้าหมายการครอบคลุมของวัคซีนโควิด 19 ได้ในปีนี้ พร้อมชูหลักสูตรพัฒนานักระบาดวิทยาภาคสนามจะช่วยเสริมศักยภาพในการสู้โรคติดต่ออุบัติใหม่เเละอุบัติซ้ำในอนาคตได้

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2564 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วยนายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และสัตวแพทย์หญิงเสาวพักตร์ ฮิ้นจ้อย ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ ร่วมต้อนรับ Dr. Jos Vandelaer ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยคนใหม่ พร้อม Dr. Richard Brown – Program Officer

นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พร้อมให้ความร่วมมือในทุกด้าน โดยเฉพาะการรับมือกับโรคโควิด 19 และเชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวลชนิดใหม่ Omicron ที่มีการแพร่ระบาดไปยังหลายประเทศอยู่ในปัจจุบัน ขณะนี้ไทยตรวจพบผู้เดินทางจากต่างประเทศติดเชื้อสายพันธุ์ชนิดดังกล่าวเเล้ว พร้อมส่งข้อมูลที่จำเป็นแก่ประเทศต้นทางก่อนที่ผู้เดินทางจะถึงประเทศไทย ผ่านผู้ประสานงานกฎอนามัยระหว่างประเทศ เพื่อแจ้งให้ทราบและเตรียมพร้อมรับมือกับการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์นี้

องค์การอนามัยโลก ชื่นชมประเทศไทยที่เร่งฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในประเทศ เเละเชื่อมั่นว่า ไทยจะสามารถบรรลุเป้าหมายฉีดวัคซีนครบ 80% ในปีนี้ โดยเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2564 ประเทศไทย ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ไปเเล้ว 48,807,699 โดส ครอบคลุม 67.76% เข็มที่ 2 จำนวน 41,769,005 โดส ครอบคลุม 57.98% เเละฉีดเข็มกระตุ้นเเล้วกว่า 4 ล้านโดส พร้อมชื่นชมเเละชูเรื่องหลักสูตรพัฒนานักระบาดวิทยาภาคสนาม (Field Epidemiology Training Program : FETP) ที่ไทยพัฒนานักระบาดวิทยาทั้งไทยและต่างประเทศ จะเสริมศักยภาพการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคได้ โดยเฉพาะโรคติดต่ออุบัติใหม่เเละอุบัติซ้ำได้

นายเเพทย์โอภาส กล่าวถึงการหารือระหว่างนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีเเละรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเเละ Dr. Tedros Adhaom Ghebreyesus ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ระหว่างการประชุมสมัชชาอนามัยโลกสมัยพิเศษ ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2564 ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ถึงความต้องการที่ไทยต้องการบริจาควัคซีนให้กับกลุ่มประเทศแอฟริกา โดยขอให้องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ช่วยประสานงานในเรื่องแนวทางและขั้นตอนการบริจาควัคซีนให้แก่กลุ่มประเทศดังกล่าว

นอกจากนี้ ไทยได้เข้าร่วมโครงการนำร่องกลไกทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งกรมควบคุมโรคจะดำเนินการผลักดันให้เรื่องดังกล่าวเข้าสู่วาระระดับชาติ ผ่านศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญต่อการฉีดวัคซีนในกลุ่มแรงงานข้ามชาติให้มีความครอบคลุมในทุกประเภทของการเดินทางเข้ามาในประเทศไทย และขอขอบคุณที่ WHO สนับสนุนการดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มดังกล่าว โดยดึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยผลักดันการดำเนินการให้เป็นรูปธรรม สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร.1422

********************************
ข้อมูลจาก : สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค
วันที่ 9 ธันวาคม 2564