(9 ธ.ค.64) เวลา 09.00 น. : พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประธานพิธีเปิดโครงการตรวจรับรองรถบริการการแพทย์ฉุกเฉินในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน กทม. ประจำปี 2565 โดยมี แพทย์หญิงวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายแพทย์สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร สำนักการแพทย์ โรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกทม.(เสาชิงช้า)
กรุงเทพมหานคร โดยศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) สำนักการแพทย์ จัดโครงการตรวจรับรองรถบริการการแพทย์ฉุกเฉินในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร ประจำปี พ.ศ.2565 เพื่อตรวจประเมินมาตรฐานและรับรองคุณภาพของรถบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นเครือข่ายในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร ให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด และคงไว้ซึ่งประโยชน์แก่ผู้รับบริการในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครให้ได้รับการบริการที่ปลอดภัยด้วยรถบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ที่มีคุณภาพ ปัจจุบันจํานวนเครือข่ายที่ขึ้นทะเบียนหน่วยบริการ ในระบบ มีจํานวนทั้งสิ้น 62 หน่วยบริการ มีรถบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ในระบบร่วมปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินของกรุงเทพมหานคร จํานวนกว่า 220 คัน สำหรับการตรวจรับรองรถบริการการแพทย์ฉุกเฉินในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน กทม. ประจำปี 2565 จะทำการตรวจรับรองรถบริการการแพทย์ ฉุกเฉินสําหรับชุดปฏิบัติการระดับต้น (Basic Life Support) และระดับสูง (Advance Life Support)บางส่วน รวมทั้งสิ้น 95 คัน โดยวันนี้จะทำการตรวจรับรองรถบริการการแพทย์ ฉุกเฉินสําหรับชุดปฏิบัติการระดับต้น (Basic Life Support) รวมจำนวน 66 คัน ประกอบด้วย มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง จำนวน 9 คัน มูลนิธิร่วมกตัญญู จำนวน 14 คัน มูลนิธิกู้ภัยร่มไทร จำนวน 9 คัน มูลนิธิสยามรวมใจ จำนวน 4 คัน มูลนิธิอาสาหนองจอก (ศูนย์ราชพฤกษ์) จำนวน 4 คัน กู้ชีพหงส์แดง จำนวน 2 คัน กู้ชีพกูบแดง จำนวน 4 คัน มูลนิธิจีเต็กลิ้ม ฮู้กักตึ้ง (พิรุณ) จำนวน 8 คัน และศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) จำนวน 12 คัน
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร เล็งเห็นถึงความสำคัญของภาวการณ์เจ็บป่วยฉุกเฉินของประชาชนในพื้นที่ จึงได้ให้ปฏิญญาและคำมั่นสัญญาที่จะดูแลประชาชน และจะพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินของกรุงเทพมหานครให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยได้ดำเนินการผลักดันภารกิจดังกล่าวภายใต้กรอบนโยบาย กฎหมายและยุทธศาสตร์ในระดับประเทศ อาทิ พระราชบัญญัติแผนกำหนดขั้นตอนกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข และแผนหลักการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ที่มุ่งเน้นระบบการแพทย์ฉุกเฉินช่วงก่อนถึงโรงพยาบาล โดยให้บริการประชาชนอย่างมีคุณภาพ ทั่วถึง และเท่าเทียม ซึ่งได้มอบอำนาจให้กรุงเทพมหานครดำเนินการบริหารจัดการระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานครได้อย่างเต็มรูปแบบ ดังเห็นได้จากการจัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการของจังหวัด ณ ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) สำนักการแพทย์ รวมถึงการประสานความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายทางการแพทย์ฉุกเฉินที่เกี่ยวข้อง โดยแบ่งขอบเขตการให้บริการเป็น 9 โซนพื้นที่รับผิดชอบ จำนวน 62 หน่วยงาน ไปจนถึงการจัดตั้งจุดจอดรถบริการการแพทย์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงและให้บริการประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินได้อย่างครอบคลุม ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างเสริมความเข้มแข็งให้กับระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร และยกระดับคุณภาพมาตรฐานของรถบริการการแพทย์ฉุกเฉิน กรุงเทพมหานครจึงได้ดำเนินการตรวจรับรองรถบริการการแพทย์ฉุกเฉินในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2565 ซึ่งรถที่ผ่านการตรวจรับรองจะสร้างความเชื่อมั่น และมั่นใจให้กับประชาชนชาวกรุงเทพมหานครหรือผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินจะได้รับบริการที่ดี มีคุณภาพ
——-