วันที่ 8 ธันวาคม 2564 เวลา 14.00 น. นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานงานเปิดตัวหนังสือสัมพันธภาพ Amity และงานเสวนาวรรณกรรมไทย – แคนาดาในโอกาสฉลองครบรอบ ๖๐ ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและแคนาดา โดยมีนางยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางซาราห์ เทย์เลอร์ เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย นายวิชชุ เวชชาชีวะ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม นายสกุล บุณยทัต นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ตัวแทนนักเขียนไทย นักเขียนแคนาดาและนักแปล พิธีกรและวิทยากรงานเสวนาฯ เข้าร่วม ณ ห้องออดิทอเรียม หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน กรุงเทพฯ และมีการถ่ายทอดสดงานผ่านช่องทาง Live Streaming แฟนเพจเฟซบุ๊กกลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และแฟนเพจเฟซบุ๊กสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
นายอิทธิพล กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มีนโยบายพัฒนาความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมกับต่างประเทศ เสริมสร้างภาพลักษณ์ เกียรติภูมิและยกระดับบทบาทด้านวัฒนธรรมของไทยในเวทีโลก ดังนั้น วธ.ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศและสถานเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย จัดงานเปิดตัวหนังสือสัมพันธภาพ Amity และงานเสวนาวรรณกรรมไทย-แคนาดา ในโครงการแปลวรรณกรรมในโอกาสฉลองครบรอบ ๖๐ ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและแคนาดา ซึ่งการดำเนินโครงการ แปลวรรณกรรมฯ วธ.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อดำเนินโครงการแปลวรรณกรรมฯ ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากไทยและแคนาดา เพื่อคัดเลือกวรรณกรรมร่วมสมัยของไทยและแคนาดาประเภทเรื่องสั้นที่สร้างสรรค์ไว้แล้ว เป็นที่รู้จัก มีคุณค่าทางวรรณศิลป์ที่เสนอภาพชีวิต สังคม และศิลปวัฒนธรรมของไทยและแคนาดาให้เป็นที่รู้จักและเข้าใจ รวมทั้งส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ เพื่อจัดแปลและรวบรวมไว้ในหนังสือชื่อว่า “สัมพันธภาพ Amity” ภายใต้การสนับสนุนจากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า หนังสือสัมพันธภาพ Amity แบ่งออกเป็น ๒ เล่ม ได้แก่ เล่มวรรณกรรมไทยที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ และเล่มวรรณกรรมแคนาดาที่แปลเป็นภาษาไทย ซึ่งจัดทำทั้งในแบบรูปเล่มและ E-Book โดยวรรณกรรมไทยที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ ประกอบด้วย เรื่องสั้นจากอนุสรณ์ ติปยานนท์ มาลา คำจันทร์ พิมใจ จูกลิ่น (เดือนวาด พิมวนา) จำลอง ฝั่งชลจิตร และวานิช จรุงกิจอนันต์ และวรรณกรรมแคนาดาที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทย ประกอบด้วย เรื่องสั้นจาก คิม ทุย ดาร์เรล เจ. แมคคลาวด์ ไมเคิล ออนดาต์เจ กาย แวนเดอร์เฮกจ์ และเจน เออร์คาร์ต โดยแต่ละเรื่องราวมีการสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต สังคม วัฒนธรรมและมุมมองความคิดและความเชื่อที่ทั้งคล้ายคลึงและแตกต่างของประชาชนทั้งสองประเทศอีกด้วย
นายอิทธิพล กล่าวด้วยว่า การดำเนินโครงการแปลวรรณกรรมฯครั้งนี้ แสดงถึงความสัมพันธ์และความเป็นมิตรประเทศระหว่างไทยและแคนาดาที่มีมาอย่างยาวนาน และมีการดำเนินกิจกรรมแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง และเป็นกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่สำคัญในการเผยแพร่วรรณกรรมทรงคุณค่าของทั้งสองประเทศ ก่อให้เกิดประโยชน์ในการส่งเสริมการเข้าถึงวรรณกรรม การส่งเสริมผลงานศิลปินด้านวรรณกรรมให้เป็นที่รู้จักในต่างประเทศ และที่สำคัญเป็นการกระชับความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมในระดับประชาชนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทั้งนี้ การจัดงานครั้งนี้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตามข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุขและศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อย่างเคร่งครัด