เอสซีจี ปักหมุด ESG 4 Plus แก้วิกฤตเพื่อโลกที่ยั่งยืน ลุยพลังงานสะอาด นวัตกรรมรักษ์โลก ลดสังคมเหลื่อมล้ำ ด้วยความเป็นธรรมโปร่งใส

เอสซีจี ประกาศเดินหน้าธุรกิจควบคู่กู้วิกฤตโลกร้อน ทรัพยากรขาดแคลน และลดความเหลื่อมล้ำ ชูธง ESG 4 Plus “มุ่ง Net Zero – Go Green – Lean เหลื่อมล้ำ – ย้ำร่วมมือ”  ประมาณการเงินลงทุนเบื้องต้น 70,000 ล้านบาทในการปรับปรุงกระบวนการผลิต และพัฒนาธุรกิจคาร์บอนต่ำเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิลงร้อยละ 20 ภายในปี 2030 รวมถึงพัฒนา Deep Technology เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2050 ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ 5 ล้านตัน ด้วยการระดมปลูกต้นไม้ 3 ล้านไร่  ต่อยอดสร้าง 130,000 ฝาย  เร่งดันนวัตกรรมรักษ์โลกเพิ่มขึ้น 2 เท่า อาทิ สินค้าฉลาก SCG Green Choice,นวัตกรรมการก่อสร้าง CPAC Green Solution, SCG Green Polymer และบรรจุภัณฑ์รีไซเคิล–ย่อยสลาย 100%  ลดสังคมเหลื่อมล้ำ ตั้งเป้าสร้างอาชีพที่ตลาดต้องการ 20,000 คน ประกาศร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อส่งมอบโลกที่น่าอยู่ให้คนรุ่นต่อไป ภายใต้การดำเนินงานอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า โลกกำลังเผชิญวิกฤตใหญ่ ได้แก่ อากาศแปรปรวน จากอุณหภูมิโลกสูงขึ้น 1.2 องศา ทรัพยากรทั่วโลกขาดแคลน จากจำนวนประชากรที่จะเพิ่มสูงขึ้น 9.6 พันล้านคน ทำให้ทรัพยากรขาดแคลนและขยะล้นโลก  ขณะที่โควิด 19 ทำให้ความเหลื่อมล้ำ ในสังคมขยายวงกว้าง คาดว่าปี 2022 คนตกงานทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 205 ล้านคน เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรง  เยาวชนจำนวนมากหลุดออกจากระบบการศึกษา ถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันกู้วิกฤตโลก โดยใช้ ESG (Environmental, Social, Governance) กรอบการพัฒนาที่เป็นมาตรฐานการดำเนินธุรกิจระดับโลกสอดคล้อง กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs (Sustainable Development Goals) ของสหประชาชาติ และโมเดล เศรษฐกิจใหม่อย่างยั่งยืนของรัฐ หรือ BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy)

นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า “เอสซีจี ใช้แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SD (Sustainable Development) เป็นแนวทางดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม วันนี้ เอสซีจี ได้ก้าวสู่ปีที่ 109 จึงยกระดับ SD สู่แนวทาง ESG 4 Plus ได้แก่ “1.มุ่ง Net Zero  2.Go Green 3.Lean เหลื่อมล้ำ 4.ย้ำร่วมมือ Plus เป็นธรรม โปร่งใส”

แนวทางที่ 1 มุ่ง Net Zero

เอสซีจีมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 (Net  Zero) โดยเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานคาร์บอนต่ำอย่างพลังงานชีวมวล (Biomass) จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและเชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) ในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ การใช้ลมร้อนเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิต และพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงวิจัยและลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology) อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI Supervisory for Energy Analytics) และเตรียมทดลองนำร่องใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage – “CCUS”) เป็นต้น

นอกจากนี้ เอสซีจียังคงเดินหน้าปลูกต้นไม้ลดโลกร้อน 3 ล้านไร่ และป่าโกงกาง 3 หมื่นไร่ ดูดซับ 5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ พร้อมขยายผลไปในอาเซียน รวมถึงสร้างฝายชะลอน้ำ 130,000 ฝาย เพื่อฟื้น ความอุดมสมบูรณ์ ให้แก่ป่าต้นน้ำ  และขยายชุมชนการจัดการน้ำยั่งยืนให้ครอบคลุม 50 จังหวัดทั่วประเทศ

แนวทางที่ 2 Go Green

มุ่งพัฒนานวัตกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดการใช้ทรัพยากรตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนไปด้วยกัน  โดยตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ฉลาก SCG Green Choice เป็น 2 เท่าจากร้อยละ 32 เป็นร้อยละ 67 ภายในปี 2030  อาทิ ปูนงานโครงสร้าง เอสซีจี สูตรไฮบริด ระบบหลังคา SCG Solar Roof Solutions  นอกจากนี้ ยังตั้งบริษัท SCG Cleanergy ให้บริการโซลูชันผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งแสงอาทิตย์และลม ทั้งในไทยและต่างประเทศ

CPAC Green Solution ช่วยให้ก่อสร้างเสร็จไว ลดของเหลือทิ้งในงานก่อสร้าง  SCG Green Polymer นวัตกรรมพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน  ตอบโจทย์ธุรกิจและผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม บรรจุภัณฑ์ของเอสซีจีพีทั้งหมดสามารถรีไซเคิล ใช้ซ้ำ หรือย่อยสลายได้ในปี 2050 ซึ่งแนวทางที่ 1.  มุ่ง Net Zero และ 2. Go Green เอสซีจีได้ประมาณการเงินลงทุนเบื้องต้น 70,000 ล้านบาท สำหรับการปรับปรุงกระบวนการผลิตและพัฒนาธุรกิจคาร์บอนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิลงร้อยละ 20 ภายในปี 2030

แนวทางที่ 3 Lean เหลื่อมล้ำ

เอสซีจี มุ่งลดความเหลื่อมล้ำในสังคมด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพที่ตลาดต้องการให้แก่ชุมชนรอบโรงงาน และ SMEs  20,000 คน ภายในปี 2025 เช่น อาชีพพนักงานขับรถบรรทุก โดยโรงเรียนทักษะพิพัฒน์ อาชีพช่างปรับปรุงบ้าน โดย Q-Chang (คิวช่าง) อาชีพแปรรูปผลิตภัณฑ์ และขายสินค้าออนไลน์และออฟไลน์ผ่านโครงการพลังชุมชน อาชีพผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยทันตแพทย์ นักบริบาลผู้สูงอายุ ผ่านทุนการศึกษาจากโครงการ Learn

to Earn โดยมูลนิธิเอสซีจี  รวมถึงเสริมความรู้เพิ่มผลผลิตให้เกษตรกร ด้วย Kubota Smart Farming นอกจากนี้ ในช่วงโควิด 19 ยังช่วยเหลือ SMEs ให้ขายสินค้าบนแพลตฟอร์ม NocNoc.com และ Prompt Plus โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมถึงให้สินเชื่อร้านค้าช่วงและผู้รับเหมารายใหญ่ผ่านแพลตฟอร์ม Siam Saison

แนวทางที่ 4 ย้ำร่วมมือ

เอสซีจี มุ่งสร้างความร่วมมือขับเคลื่อน ESG กับหน่วยงานระดับประเทศ อาเซียน และระดับโลก อาทิ ร่วมกับไปรษณีย์ไทยและองค์การเภสัชกรรม ในโครงการ “ไปรษณีย์ reBOX”  รีไซเคิลกล่องกระดาษเหลือใช้ ร่วมกับ PPP Plastic จัดการขยะพลาสติกเพื่อนำกลับมาสู่กระบวนการรีไซเคิล สร้างต้นแบบการจัดการขยะพลาสติก ร่วมกับ Unilever เปลี่ยนขยะพลาสติกใช้แล้วจากครัวเรือน เป็นพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง สำหรับผลิตขวด

บรรจุภัณฑ์รีไซเคิล ร่วมกับ Global Cement and Concrete Association (GCCA) ลดการปล่อยและกักเก็บ ก๊าซเรือนกระจกเข้าไปในเนื้อคอนกรีต ในอุตสาหกรรมซีเมนต์ (Recarbonation: CO2 sink) และล่าสุด ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดประชุม Green Meeting ในงานประชุม APEC2022  และ ASEAN Summit นอกจากนี้ ได้เตรียมจัดงาน ESG Symposium ในไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย เพื่อเชิญชวนทุกภาคส่วนในอาเซียนร่วมขับเคลื่อน ESG ต่อไป

Plus เป็นธรรม โปร่งใส

ทั้งนี้ เอสซีจีได้ขับเคลื่อนองค์กรตามแนวทาง ESG 4 Plus ภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี (Governance) อย่างต่อเนื่อง ดำเนินทุกกิจกรรมอย่างเป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้  และยังเน้นการปลูกฝังไปยังพนักงาน ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นจนเป็นวัฒนธรรมองค์กร

“เอสซีจีและพนักงานทุกคนคือส่วนหนึ่งของโลกใบนี้  นับจากนี้ ESG 4 Plus จะเป็นภารกิจสำคัญที่พวกเราจะทุ่มเทความพยายามอย่างสุดความสามารถ ผสานทั้งความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ โดยใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยีช่วยบรรเทาวิกฤตที่เกิดขึ้นและดูแลสังคมให้ยั่งยืน ซึ่งจะทำไปพร้อมกันทั้ง ESG อย่างไรก็ดี เอสซีจีไม่สามารถแก้ไขวิกฤตได้โดยลำพัง จึงขอเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมดูแลโลกของเราให้น่าอยู่และส่งต่อไปยังรุ่นลูกหลานต่อไป เริ่มด้วยกัน เพื่อเรา เพื่อโลกที่ยั่งยืน” นายรุ่งโรจน์กล่าวในตอนท้าย