รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดโครงการ Young Health Programme ภายใต้ความร่วมมือของ แอสตร้าเซนเนก้า โครงการแพลน และ UNICEF ส่งเสริมเด็กและเยาวชนไทยในพื้นที่ กทม.-ปริมณฑล อายุ 10-24 ปี ให้มีองค์ความรู้ สามารถตัดสินใจมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี ป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
วันที่ 8 ธันวาคม 2564 ที่โรงแรมโรงแรมเรเนซองส์ ราชประสงค์ กรุงเทพฯ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดโครงการ Young Health Programme (YHP) โครงการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีในเด็กและเยาวชนในด้านการป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นความร่วมมือดำเนินงานของ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับองค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และ UNICEF
นายอนุทินกล่าวว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นปัจจัยหลักทำให้คนไทยเสียชีวิตสูงสุด คิดเป็นร้อยละ 74ของการเสียชีวิตทั้งหมด โดยเฉพาะโรคหัวใจและโรคมะเร็งที่ทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมีสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมและการใช้ชีวิตที่สามารถป้องกันได้ โดยการลดพฤติกรรมเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต้องให้ความสำคัญตั้งแต่กลุ่มเด็กและเยาวชน ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้มุ่งส่งเสริมให้ความรู้และร่วมมือกับเยาวชนทั่วประเทศในด้านสุขศึกษา รวมถึงให้องค์ความรู้ด้านปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง สุขภาพทางเพศ อนามัยการเจริญพันธุ์ และสุขภาพจิต ทั้งนี้ โครงการ Young Health Programme สอดคล้องและสนับสนุนแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ด้านสาธารณสุขของประเทศไทย และตามเป้าหมายที่ 3 ของการพัฒนา ที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ คือ การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้แก่เด็ก จะช่วยให้เด็กเติบโตขึ้นมาด้วยสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี มีองค์ความรู้ในการดูแลสุขภาพตนเอง สามารถขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจประเทศในอนาคตต่อไปได้
สำหรับโครงการ YHP เริ่มดำเนินการเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ภายใต้กรอบระยะเวลา 5 ปี มีเป้าหมายส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กและเยาวชน อายุระหว่าง 10-24 ปี ใน 7 พื้นที่ ได้แก่ บางเขน จตุจักร หลักสี่ วัฒนา และคลองเตย ของ กทม. อ.เมือง และ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ จำนวน 75,240 คน ผู้ปกครอง ครู และผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข 11,385 คน มุ่งเน้นสร้างเกราะความรู้การป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและพฤติกรรมเสี่ยงแก่เด็กและเยาวชน เพื่อปลูกฝังและผลักดันให้เกิดศักยภาพในการตัดสินใจด้านสุขภาพ ที่เหมาะสมของตนเอง เช่น ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดหวานมันเค็ม ลดพฤติกรรมเนือยนิ่งจากการใช้สมาร์ทโฟนและหันมาออกกำลังกาย เป็นต้น โดยดำเนินงานผ่านการจัดกิจกรรมยกระดับบริการด้านการดูแลสุขภาพ สร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการลดพฤติกรรมเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง กิจกรรมสร้างเครือข่ายผู้สนับสนุน และกิจกรรมพัฒนาเชิงนโยบาย ขณะนี้เข้าสู่ปีที่ 3 มีผู้ได้รับประโยชน์ทางอ้อมในสังคมแล้วกว่า 1,393,619 คน
*********************************** 8 ธันวาคม 2564