สธ. – UNFPA – ริกคิทท์ประเทศไทยและอินโดจีน ผนึกกำลังส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพ และถ้วนหน้า

กระทรวงสาธารณสุข  กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) และ บริษัท ริกคิทท์ ประเทศไทยและอินโดจีน (Reckitt) ร่วมมือดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพและถ้วนหน้า (Safe Birth for All) ในพื้นที่ห่างไกลชายแดนไทย-พม่า 3 จังหวัดภาคเหนือ

วันที่ 8 ธันวาคม 2564 ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธาน การประชุมเชิงปฎิบัติการนำเสนอสรุปผลการดำเนินงานของโครงการการพัฒนาและส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพและถ้วนหน้า (Safe Birth for All) ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร ว่า การตายมารดาเป็นเครื่องชี้วัดด้านสุขภาพ ที่สําคัญของโลก ทุกประเทศทั่วโลกมีข้อตกลงร่วมกันในการกําหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ของโลกในอีก 15 ปี ข้างหน้า ต้องลดอัตราการตายมารดาทั่วโลกให้ต่ำกว่า 70 ต่อการเกิดมีชีพแสนคน ภายในปี 2573 สำหรับประเทศไทย โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการดําเนินงานเพื่อลดอัตราส่วนการตายมารดา  อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขยังคงเฝ้าระวังและส่งเสริมการเกิดคุณภาพ โดยเฉพาะ หญิงทุกคนทั้งคนไทยและไม่ใช่คนไทยในพื้นที่ห่างไกล ได้เข้าถึงบริการอนามัยแม่และเด็ก เป็นการป้องกันการตายที่ป้องกันได้ของพื้นที่ที่มีความเสี่ยงการตายสูง ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับมาตรฐานการพัฒนาและส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพและถ้วนหน้า (Safe Birth for All)

“ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข และกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ได้ร่วมมือดำเนินงานโครงการ  การพัฒนาและส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพและถ้วนหน้า (Safe Birth for All) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาระบบรายงานและ การให้บริการอนามัยแม่และเด็ก และวัยรุ่นวัยเจริญพันธุ์อย่างมีคุณภาพ ตลอดจนบูรณาการการมีส่วนร่วมของบุคลากรสาธารณสุข บุคลากรวิชาชีพอื่น ๆ ในชุมชนท้องถิ่น ในพื้นที่ชายขอบและห่างไกล ลดปัญหาการตายของมารดาและทารก ระยะเวลา 15 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 – ธันวาคม 2564 เพื่อปรับปรุงระบบการให้บริการอนามัยแม่และเด็ก และประสานความร่วมมือภาคีเครือข่ายในการดำเนินงาน โดยการสนับสนุนงบประมาณจาก บริษัท ริกคิทท์ ประเทศไทยและ อินโดจีน (Reckitt)” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า โครงการการพัฒนาและส่งเสริมการเกิด อย่างมีคุณภาพและถ้วนหน้า (Safe Birth for All) กรมอนามัยได้ดำเนินการในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และ ตาก ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ ศูนย์อนามัยที่ 2 พิษณุโลก และศูนย์อนามัยกลุ่มชาติพันธุ์ ชายขอบ และแรงงานข้ามชาติ (ศอช.) ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ตามตะเข็บชายแดนไทย-พม่า ที่อนามัยมารดาและทารกเข้าไม่ถึงบริการ โดยพื้นที่ดังกล่าวมีกลุ่มหญิงวัยเจริญพันธุ์ที่เป็นคนไทยและชาติพันธุ์ ประมาณ 210,000 คน และเป็นหญิงตั้งครรภ์ประมาณ 30,700 คน ซึ่งต้องอาศัยผดุงครรภ์โบราณกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการลดการตายมารดาและทารกในพื้นที่ชายขอบและห่างไกล ช่วยให้หญิงมีครรภ์ได้รับการดูแลอย่างถูกต้องเหมาะสม เนื่องจากกลุ่มชาติพันธุ์และชายขอบเป็นประชากรราวร้อยละ 60 ของประชากรในพื้นที่ และข้อจำกัดด้านการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ทำให้ยังมี การคลอดที่บ้านโดยผดุงครรภ์โบราณ โดยกรมอนามัยให้การสนับสนุนอุปกรณ์การทำคลอดจำนวน 1,500 ชุด มีการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมผดุงครรภ์โบราณ จำนวน 1 หลักสูตร จัดประชุมระบบการแจ้งการเกิด การตาย แก่เครือข่ายครู ตชด. ครู กศน. พร้อมทั้งพัฒนาระบบเฝ้าระวังการตายทารกปริกำเนิด โดยปี 2565 จะมีการขยายผลให้ครอบคลุมสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งทั่วประเทศ และมีการวางแผนจะขยายผลให้ครอบคลุมในสถานพยาบาลของรัฐนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สถานพยาบาลเอกชน และการตายนอกสถานพยาบาลต่อไป

Dr. Asa Torkelsson ผู้แทน UNFPA ประเทศมาเลเซีย และผู้อำนวยการ UNFPA ประเทศไทย กล่าวว่า โครงการนี้  เป็นต้นแบบความสำเร็จของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership : PPP) ที่ภาคีเครือข่าย ได้ช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงการตายของมารดาที่ป้องกันได้ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายเป็นหญิงวัยเจริญพันธุ์ กลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นกลุ่มเปราะบาง เนื่องจากเข้าถึงบริการและข้อมูลด้านอนามัยแม่และเด็กอย่างจำกัด จึงเป็นความท้าทายของการดำเนินงานที่จะหาช่องทางและโอกาสให้กลุ่มเป้าหมายได้เข้าถึงบริการแม่และเด็กที่มีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นการทำสิ่งที่เป็นไม่ได้ให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม และขอขอบคุณกรมอนามัย รวมถึงบริษัท ริกคิทท์ ประเทศไทยและอินโดจีน (Reckitt) ที่เป็นพันธมิตรขับเคลื่อนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากร

ดร.นพ.ปณต ประพันธ์ศิลป์ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์และกิจการภายนอก บริษัท ริกคิทท์ ประเทศไทยและอินโดจีน (Reckitt) กล่าวว่า ขอชื่นชมและแสดงความยินดีกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข UNFPA และเจ้าหน้าที่ทุกท่าน ที่เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนโครงการนี้จนสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีในช่วงเวลาที่ยากลำบาก และขอบคุณที่ให้โอกาสบริษัท ริกคิทท์ ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของหญิงกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ห่างไกลเช่นนี้ เป็นเครื่องหมายแสดงให้เห็นถึงพันธสัญญาของเราในการดำเนินกิจการในประเทศไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้คนเข้าถึงการดูแลสุขภาพอนามัย ที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน

***

กรมอนามัย / 8 ธันวาคม 2564