กระทรวงสาธารณสุข มอบโล่รางวัล NCD Clinic Plus Award แก่ 9 โรงพยาบาล ที่มีผลงานการพัฒนาคุณภาพบริการคลินิกโรคไม่ติดต่อดีเด่นระดับประเทศ
วันที่ 8 ธันวาคม 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลัง การมอบโล่รางวัล NCD Clinic Plus Awards ผลงานดีเด่นระดับประเทศปี 2564 ในการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ว่า กระทรวงสาธารณสุขตระหนักและให้ความสำคัญกับโรคไม่ติดต่อ เนื่องจากเป็นปัญหาสุขภาพลำดับต้น ๆ ของประเทศ โดยเฉพาะโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูงที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลการสำรวจสุขภาพคนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 6 พบว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงประมาณ 14 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของคนไทย ในจำนวนนี้ 48.8% ไม่ทราบว่าตนเองป่วย ส่วนผู้ป่วยโรคเบาหวานมีจำนวน 5 ล้านคน โดย 30.6% ไม่ทราบว่าตนเองเป็นเบาหวานมาก่อน และมีผู้ป่วยเพียง 26.3% ที่สามารถควบคุมสภาวะของโรคได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยโรค NCD ยังเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงและเสียชีวิตเมื่อมีการติดเชื้อโควิด 19 อีกด้วย ดังนั้นการประเมิน คุณภาพบริการคลินิกโรคไม่ติดต่อ ซึ่งประกอบด้วย ทิศทางและนโยบาย ระบบสารสนเทศ การปรับระบบ กระบวนการบริการ ระบบสนับสนุนการจัดการตนเอง ระบบสนับสนุนการตัดสินใจ การจัดบริการเชื่อมโยงเครือข่ายสุขภาพชุมชนในการดูแลกลุ่มเสี่ยง จะช่วยพัฒนาคุณภาพบริการในสถานพยาบาลในการจัดการโรคไม่ติดต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“ขอแสดงความยินดีกับทุกโรงพยาบาลที่ได้รับโล่รางวัล NCD Clinic Plus Award ผลงานดีเด่นระดับประเทศ ปี 2564 ถือเป็นขวัญกำลังใจของผู้ปฏิบัติงาน และเชิดชูเกียรติของโรงพยาบาลที่มีรูปแบบการดำเนินงานที่เป็นเลิศ เป็นต้นแบบให้กับโรงพยาบาลอื่น ๆ นำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ และเป็นกำลังใจให้กับโรงพยาบาลทุกแห่งแม้จะไม่ได้รางวัล จงมุ่งมั่นพัฒนางานเพื่อประชาชนคนไทยต่อไป” นายอนุทินกล่าว
ทั้งนี้ ในปี 2564 มีโรงพยาบาลที่เข้าร่วมการประเมินคุณภาพ NCD Clinic Plus Award จำนวน 986 แห่ง ผ่านเกณฑ์การประเมิน 597 แห่ง และผ่านการคัดเลือกเป็นตัวแทนเขตสุขภาพ 36 แห่ง เพื่อเข้ารับการคัดเลือกผลงานดีเด่นระดับประเทศ โดยรางวัล NCD Clinic Plus Awards ผลงานดีเด่นระดับประเทศ ปี 2564 แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ โรงพยาบาลขนาดใหญ่ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จังหวัดนครสวรรค์, รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จังหวัดตาก และรองชนะเลิศอันดับสอง โรงพยาบาลสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช โรงพยาบาลขนาดกลาง ชนะเลิศ ได้แก่ โรงพยาบาลชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง โรงพยาบาลคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ และรองชนะเลิศอันดับสอง โรงพยาบาลท่าแซะ จังหวัดชุมพร และโรงพยาบาลขนาดเล็ก รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ โรงพยาบาลแสวงหา จังหวัดอ่างทอง, รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง โรงพยาบาลละแม จังหวัดชุมพร และรองชนะเลิศอันดับสอง โรงพยาบาลโพนสวรรค์ จังหวัดนครพนม
*********************************** 8 ธันวาคม 2564