(7 ธ.ค. 64) เวลา 10.00 น. นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีมอบหนังสือพระราชทานสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เล่ม 42 ให้แก่โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 109 โรงเรียน โดยมี นายเกรียงไกร จงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา ผู้บริหารสำนักการศึกษา หน่วยศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่ม 42 จำนวน 9,335 เล่ม ให้กระทรวงมหาดไทยเชิญไปมอบแก่ผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อเชิญไปมอบแก่โรงเรียนต่าง ๆ ในพื้นที่ ซึ่งหนังสือชุดสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ ถือกำเนิดขึ้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่มีพระราชประสงค์จะให้มีหนังสือที่จะรวบรวมความรู้แขนงต่าง ๆ สำหรับพสกนิกรได้มีโอกาสอ่านและศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง ตลอดจนสามารถสร้างประโยชน์ให้กับตนเอง สังคม และประเทศชาติต่อไป โดยได้ริเริ่มดำเนินการในปีพุทธศักราช 2511 โดย พลโท พระยาศัลวิธานนิเทศ รับสนองพระราชประสงค์เกี่ยวกับการจัดทำหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ โดยได้รับพระราชทานเงินจำนวนหนึ่งเพื่อเป็นทุนในการจัดทำและได้ดำเนินงานมาจนถึงปีพุทธศักราช 2562
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เปลี่ยนสถานะเป็นมูลนิธิ โดยใช้ชื่อว่า “มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้เงินและทรัพย์สินของโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เป็นทุนเริ่มแรกในการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิฯ ทั้งยังมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ โปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ที่ปรึกษา และมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย เป็นประธานกรรมการมูลนิธิฯ
สำหรับสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ มีลักษณะพิเศษหลายประการ ตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร คือ หนังสือชุดนี้จัดทำโดยคนไทยเพื่อให้คนไทยอ่าน เรียบเรียงเรื่องมี 8 สาขาวิชา ดังนี้
1. สาขามนุษยศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม
2. สาขาศึกษาศาสตร์
3. สาขาสังคมศาสตร์
4. สาขาเกษตรศาสตร์
5. สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
6. สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ
7. สาขาแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข
8. สาขาวิศวกรรมศาสตร์ โดยเนื้อหาสาระในแต่ละเรื่องให้ความรู้ ความเข้าใจ มีความเชื่อมโยงกัน และแบ่งเนื้อออกเป็น 3 ส่วน แตกต่างกันตามระดับวัยและความรู้ ได้แก่ ส่วนเด็กเล็ก ส่วนเด็กกลาง และส่วนเด็กโต ซึ่งรวมถึงผู้ใหญ่และผู้สนใจทั่วไปด้วย
ทั้งนี้ การจัดพิมพ์ในเล่ม 42 เป็นการจัดพิมพ์ต่อเนื่องจากที่ดำเนินการมาแล้วตั้งแต่รัชกาลก่อนและมาสำเร็จบริบูรณ์ในรัชกาลปัจจุบัน เป็นเล่มที่มีความพิเศษยิ่ง เนื่องจากเป็นหลักฐานยืนยันถึงพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้ยั่งยืน ซึ่งสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ จัดทำขึ้นในรูปแบบเป็นเล่มและเป็น E-Book โดยแบ่งเป็น 3 กิจกรรม ได้แก่ ส่วนที่ 1 การจัดนิทรรศการร่วมกับมูลนิธิฯ เพื่อขยายผลในการเผยแพร่เรื่องราวของพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด แนวพระราชปณิธาน เพื่อให้พี่น้องคนไทยในทุกจังหวัด ทุกอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ได้รับรู้รับทราบ ส่วนที่ 2 สนับสนุนการจัดประกวด ทดสอบความรู้ เพื่อกระตุ้นให้เด็กและเยาวชนที่สนใจศึกษาเรียนรู้ เรื่องราวสาระต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ในสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ แข่งขันตอบคำถามรับโล่และประกาศนียบัตรเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ และส่วนที่ 3 เชิญชวนพี่น้องประชาชนผู้มีจิตศรัทธาร่วมสนับสนุนด้วยการบริจาคเงิน เพื่อจัดพิมพ์สารานุกรมเพื่อเยาวชนจากมูลนิธิ เพื่อที่จะนำไปเผยแพร่ให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเพื่อเป็นการร่วมกันสนองพระราชปณิธานในการสร้างองค์ความรู้ให้กับลูกหลานและคนในชาติอย่างกว้างขวางต่อไป