กระทรวงวัฒนธรรมจัดแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Korat 2021 “เซิ้ง…สิน ถิ่นย่าโม” อย่างยิ่งใหญ่ โชว์ผลงานศิลปะร่วมสมัยสร้างสรรค์ของศิลปิน 25 ประเทศ ชูโคราชเป็นเมืองศิลปะ

วันอังคารที่ 7 ธันวาคม 2564 เวลา 8.30 น. ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี เยี่ยมชมกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์โครงการการแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Korat 2021 “เซิ้ง…สิน ถิ่นย่าโม” โดย นายอิทธิพล  คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วยนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางเกษร กำเหนิดเพ็ชร รองผู้อำนวยการฯ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ดร.วิมลลักษณ์ ชูชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เข้าจัดกิจกรรม ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า “โครงการการแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยนานาชาติในครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ต่อเนื่องจากความสำเร็จในการจัดงาน Thailand Biennale, Krabi 2018 ที่จังหวัดกระบี่ โดยการนำศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้เพื่อฟื้นฟู ส่งเสริมและนำรายได้สู่ท้องถิ่นและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยในปีนี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ร่วมกับจังหวัดนครราชสีมา จัดโครงการการแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Korat 2021 ภายใต้แนวคิดหลัก “Butterflies Frolicking on the Mud” ในชื่อภาษาไทยว่า “เซิ้ง…สิน ถิ่นย่าโม”  ระหว่างวันที่ 18 ธันวาคม 2564 – 31 มีนาคม 2565 ณ จังหวัดนครราชสีมา

การจัดงานในครั้งนี้มุ่งเน้นการแสดงงานศิลปร่วมสมัยในรูปแบบของศิลปะเฉพาะที่ (Site-specific) ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่แนวคิดในการสร้างสรรค์งานศิลปะบนตำแหน่งที่เฉพาะเจาะจง โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เป็นสำคัญ โดยมี Ms.Yuko Hasegawa ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ พร้อมด้วยทีมภัณฑารักษ์ชาวไทยและญี่ปุ่น ได้แก่ นายธวัชชัย สมคง นายวิภาช ภูริชานนท์ และSeiha Kurosawa ทำหน้าที่ประสานการทำงานภายใต้แนวคิดหลักของโครงการ ให้แก่ศิลปินทั้ง 53 คน จาก 25 ประเทศ ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานศิลปะภายใต้แนวคิดพื้นฐานที่เชื่อมโยงกับคำว่า “undiscovering sensible capital” และ “detox” ซึ่งหมายความถึง “ทุน”ทางวัฒนธรรม สังคมและธรรมชาติที่ศิลปินเป็นผู้ค้นพบและนำมาเป็นแรงบันดาลใจ สร้างความโดดเด่นในคุณค่าของงานศิลปะที่จะดึงดูดผู้ชมจากทุกภาคส่วนให้มาเยือนโคราช พร้อมทั้งสร้างการรับรู้และตระหนักในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และเชิญชวนให้ตั้งคำถามเพื่อหาทางออกใหม่ ๆ ร่วมกัน โดยแบ่งพื้นที่ในการจัดนิทรรศการออกเป็น 3 พื้นที่หลัก ได้แก่ ในเขตอำเภอเมือง บริเวณบ้านพักผู้พิพากษา ลานย่าโม สวนสาธารณะบุ่งตาหลั่ว สวนสัตว์นครราชสีมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และหอสมุดเฉลิมพระเกียรติ ร.9 นครราชสีมา เขตอำเภอพิมาย บริเวณของอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย และเขตอำเภอปากช่อง ณ หอศิลป์พิมานทิพย์

นอกจากนิทรรศการหลักแล้ว จังหวัดนครราชสีมา ยังได้จัดกิจกรรมส่งเสริมตลอดระยะเวลา 4 เดือนของการจัดงาน อาทิเช่น การประกวดออกแบบมาสคอตเพื่อสร้างสีสันให้กับงาน โดย “สินสะออน” ได้รับรางวัลชนะเลิศ ออกแบบโดย ผศ.ดร.ภานุวัฒน์ เสงี่ยม พร้อมด้วยผลงานศิลปะที่สร้างสรรค์โดยศิลปินท้องถิ่น จำนวน 30 ผลงาน ณ บริเวณคูเมือง กำแพงเมืองเก่า ตรงข้ามวัดศาลาลอย,นิทรรศการแสดงผลงานศิลปะของศิลปิน 3 เมืองศิลปะ ได้แก่ กระบี่ เชียงราย นครราชสีมา ภายใต้หัวข้อ “ธรรมชาติเป็นใหญ่ในโลก ศิลปะมี อิสระในตัวเอง” จังหวัดละ 100 ผลงาน จัดแสดงให้ชม ณ บริเวณ ชั้น 4 ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 โคราช, กิจกรรม Passport ชมงาน ชิงรางวัล จากศิลปินระดับนานาชาติ การจัดแสดงลานศิลปวัฒนธรรม ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และการประกวดวาดภาพ หัวข้อ “Butterflies Frolicking on the Mud : Engendering Sensible Capital” และการประกวดเรียงความและภาพถ่าย “เบียนนาเล่ของฉัน ณ โคราช” เป็นต้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อว่า ในวันที่ 10 ธันวาคม 2564 นี้ จะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานสัญลักษณ์ “สิริศิลปิน” แด่สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี และทรงเปิดงาน ณ หอศิลป์พิมานทิพย์ และมีการจัดริ้วขบวนพาเหรด ณ บริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ จำนวน 7 ขบวน ดังต่อไปนี้ ริ้วขบวนที่ 1 เอกองค์อัครศิลปิน “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” ริ้วขบวนที่ 2 สิริศิลปิน “พระอัจฉริยภาพเป็นที่ประจักษ์ ศิลปินของแผ่นดิน” ริ้วขบวนที่ 3 ชาติพันธุ์โคราช “เมืองกล้าแม่หญิง ท้องถิ่นศิลปะ” ริ้วขบวนที่ 4 ประเพณีแห่เทียนพรรษา “ศิลปะแห่งความศรัทธาสืบสานงานด้านประติมากรรม” ริ้วขบวนที่ 5 วิถีลุ่มน้ำลำตะคอง “แตกต่างแต่กลมกลืน ความหลากหลายของวัฒนธรรม” ริ้วขบวนที่ 6 วิถีลุ่มน้ำมูล“อารยะแซ่ซ้อง ศิลปะขอมแห่งนครชัยวรมัน”ริ้วขบวนที่ 7“ปรากฏการณ์ ถิ่นศิลป์เบียนนาเล่ มหานครแห่งอีสาน”สามารถรับชมการถ่ายทอดสดพิธีเปิดผ่านสถานีโทรทัศน์ ช่อง 9 อสมท. ระหว่างเวลา 18.00 น.-19.00 น.

ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรมขอเชิญเยาวชน ประชาชน และนักท่องเที่ยวมาร่วมงานและมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างสรรค์ระหว่างศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่นที่นำไปสู่การพัฒนาสินค้าทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว เพื่อนำรายได้มาสู่ชุมชน ประเทศชาติ และส่งเสริมให้จังหวัดนครราชสีมาก้าวไปสู่การเป็น “เมืองศิลปะระดับโลก” ด้วยความภาคภูมิใจ ติดตามรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.thailandbiennale.org / Facebook https://www.facebook.com/สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย / E-Mail : info@thailandbiennale.org และสายด่วนวัฒนธรรม 1765
///