“หมอกจาง ๆ และควัน คล้ายกันจนบางทีไม่อาจรู้” เนื้อเพลงคุ้นหู ที่ต้องย้อนกลับมาคิดทุกครั้งว่า บนท้องฟ้าสภาพอากาศที่เราเห็นอยู่นั้น คือ หมอก หรือ ควัน กันแน่หากพูดถึงปัญหามลพิษทางอากาศ หลายคนต้องนึกถึงปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาที่ต้องเผชิญอยู่บ่อยครั้ง และเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบในหลาย ๆ มิติ หนึ่งในนั้น คือ ผลกระทบทางสุขภาพPM2.5 คือ ฝุ่นละอองที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือเล็กประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผม มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ลอยอยู่ในอากาศได้นาน อาจมีสารพิษเกาะมาด้วย ทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพมากขึ้น
สาเหตุที่ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 คือ แหล่งกำเนิด 3 อย่าง ได้แก่
1.แหล่งกำเนิดโดยตรง ได้แก่ การเผาในที่โล่ง การจราจรและขนส่ง โรงงานไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม การเผาเชื้อเพลิง
2.แหล่งกำเนิดทางอ้อม ได้แก่ ฝุ่นทุติยภูมิ เกิดจากก๊าซไนโตรเจนออกไซด์และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์รวมตัวกับสารประกอบแอมโมเนีย แอมโมเนียมไนเตรต แอมโมเนียมซัลเฟต
3.มลพิษข้ามพรมแดนที่พัดมาจากประเทศเพื่อนบ้าน
จะดีกว่าไหม หากวันนี้เรามีศูนย์กลางทางวิชาการในการรวบรวมปัญหา และเป็นแหล่งข้อมูลในการนำไปใช้ประโยชน์ ต่อยอด แก้ปัญหาในเชิงนโยบาย ดังนั้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงเปิด ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ (ศวอ.) เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมไทย 2564 ที่ผ่านมา เพื่อมุ่งเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลวิชาการในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ปัญหามลพิษทางอากาศเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกองค์กร หรือหน่วยงานใด ๆ ก็เอาไม่อยู่ ถึงเวลาแล้วที่ต้องร่วมกันประสานและเชื่อมโยงการทำงานทุกภาคส่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหา ดังนั้น ส่วนวิชาการ นับเป็นกระดูกสันหลังสำคัญในการขับเคลื่อนการทำงาน เพราะพลังปัญญาเป็นพลังหนุนเสริมในการขับเคลื่อนนโยบาย ซึ่งมลพิษทางอากาศเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่นำไปสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)
“ในทศวรรษที่ 3 ของ สสส. เราวางหมุดไว้แล้วว่า งานลดผลกระทบสุขภาพจากมลพิษสิ่งแวดล้อมให้เป็น 1 ใน 7 เรื่องเป้าหมายหลักที่จะทำงานร่วมกับภาคี ดังนั้น ศวอ. ซึ่งมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ศวอ.เกิดจากฐานประสบการณ์ของ สสส. ที่จะเป็นศูนย์กลางที่จะประสานการรวมโจทย์ปัญหามลพิษทางอากาศและร่วมแก้ไขปัญหา รวมเครือข่ายวิชาการเพื่อแก้ปัญหา เชื่อว่าศูนย์นี้ จะเป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการขับเคลื่อนสุขภาพคนไทยในอนาคต” ดร.สุปรีดา กล่าว
นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ข้อมูลจาก WHO ระบุว่า ปีที่ผ่านมา มีประชากรประมาณ 7 ล้านคน เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคที่เกิดจากมลพิษทางอากาศ และข้อมูลจากกรมอนามัย พบว่า ประชากร 38 ล้านคน ใช้ชีวิตอยู่บนพื้นฐาน PM2.5 ที่เกินมาตรฐาน
“สสส. โดยสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ได้ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายวิชาการ นำไปสู่การพัฒนาห่วงโซ่ผลลัพธ์ ซึ่งศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ เป็นมิติใหม่ในการทำงาน เป็นฐานข้อมูลและขับเคลื่อนสังคมเพื่อแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนได้” นายชาติวุฒิ กล่าว
การดูแลและป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจาก PM2.5
1.ติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศในแอปพลิเคชั่น Air4Thai หรือข่าวสารตามช่องทางต่างๆ
2.สังเกตอาการ หากมีอาการไอ แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หรืออาการอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์ทันที
3.ลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิด PM2.5 เช่น จุดธูป เผากระดาษเงินกระดาษทอง ปิ้งย่าง เผาใบไม้ เผาขยะ เป็นต้น
4.เมื่อค่า PM2.5 อยู่ในระดับสีส้มหรือสีแดง ให้งดทำกิจกรรมนอกบ้าน หากมีความจำเป็นต้องออกนอกบ้าน ควรสวมใส่หน้ากากป้องกันฝุ่น
รศ.วงศ์พันธ์ ลิมปเสนีย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศวอ.) สนับสนุนโดย สสส. กล่าวว่า ศูนย์วิชาการเป็นศูนย์รวมของนักวิชาการเพื่อมาร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ ที่สามารถเอาไปใช้ในการขับเคลื่อน ส่งเสริม วางมาตรการในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยผลที่คาดว่าจะได้รับ มีดังนี้
1.มีการสร้างเครือข่ายภาคีนักวิชาการ
2.ได้องค์ความรู้ทางวิชาการ เอาไปเผยแพร่เป็นชุดความรู้
3.มีระบบจัดการข้อมูล ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวกผ่านช่องทางออนไลน์
4.เป็นภาคีเครือข่ายร่วมกับประชาชน สังคม เอกชน เพื่อร่วมมือขับเคลื่อนนโยบาย
5.จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายนำไปสู่การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจข้อมูลจากศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศวอ.) สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ “รู้ทันฝุ่น” www.facebook.com/CCAS.EEAT