รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำเสนอประสบการณ์และปัจจัยความสำเร็จ “การประกันสุขภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืน”ของประเทศไทย ในเวทีประชุม “Cuba Health 2018” พร้อมจับมือสาธารณรัฐคิวบาพัฒนายา ให้ประเทศกำลังพัฒนาพึ่งตนเองได้ด้านยาและเพื่อความมั่นคงของประเทศในระยะยาว
ศ. คลินิกเกียรติคุณ นพ. ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้รับเกียรติให้บรรยายในการประชุมวิชาการระดับนโยบาย “Cuba Health 2018” ที่สาธารณรัฐคิวบา เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ “การประกันสุขภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืน” ใน 3 ประเด็นสาระสำคัญ
1.การประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นแรงหนุนสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าดังจะเห็นได้จากผลการดำเนินงานของประเทศไทยที่สามารถป้องกันและลดการล้มละลายจากความเจ็บป่วย
2.ปัจจัยแห่งความสำเร็จของประเทศไทย ที่มีการพัฒนาระบบสุขภาพจนเป็นที่ยอมรับในประชาคมโลก เกิดจากการอภิบาลระบบที่ดี การมีความรู้สำหรับพัฒนาระบบและการควบคุมกำกับที่ดี การมีปัจจัยสนับสนุนและกำลังคนด้านสุขภาพที่เพียงพอ และการคลังสุขภาพที่ยั่งยืนทั้งสำหรับรัฐและประชาชนในระยะยาว เพียงพอสำหรับบริการพื้นฐานและป้องกันการล้มละลายจากสุขภาพ ยุติธรรมต่อผู้ร่ำรวยและผู้ที่ขาดแคลน และใช้เงินได้คุ้มค่า มีประสิทธิภาพ รวมทั้งปัจจัยสุดท้ายคือ การสนับสนุนจากระดับนโยบายและการที่สังคมร่วมเป็นเจ้าของ
3.เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 3.8 ประเทศต่างๆ จะต้องก้าวข้ามอุปสรรคไปให้ได้ มีการสนับสนุนระดับนโยบายและสนับสนุนบุคลากรที่มีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนการประกันสุขภาพให้ทำงานต่อเนื่องในระยะยาว รวมทั้งการสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะงานปฐมภูมิและการพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ และการสร้างการมีส่วนร่วมและการพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อติดตามความก้าวหน้า
ทั้งนี้ ประเทศไทยและภาคีพันธมิตรจะได้ร่วมกันขับเคลื่อนการประกันสุขภาพสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนให้สำเร็จ โดยต้องมีการลงทุนในภาคสุขภาพมากขึ้น (more money for health)และต้องใช้ทรัพยากรด้านสุขภาพอย่างคุ้มค่า (more health for money)
นอกจากนี้ ภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารจากประเทศไทยได้ศึกษาดูงาน ณ Center for Genetic Engineering and Biotechnology (CIGB)และCenterfor Molecular Immunology (CIM) ทั้งสององค์กรเป็นหน่วยงานที่ใช้ความรู้นำเพื่อสร้างคุณค่าแก่ระบบสุขภาพ มีการพัฒนายารักษาโรคหลายชนิด เช่น มะเร็ง โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง และการพัฒนาวัคซีน เทคโนโลยีของสาธารณรัฐคิวบา มีความก้าวหน้ามากและมีความร่วมมือกับประเทศไทยผ่านบริษัทร่วมทุน ระหว่างบริษัท Siam BioscienceและMolecular Immunology Center(ส่วนธุรกิจ) ซึ่งประเทศไทยได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากสาธารณรัฐคิวบาในการผลิตยา Erythropoietin และGCSF และทั้งสองประเทศจะมีความร่วมมือในระยะยาวเพื่อพัฒนายาที่จำเป็นอื่นๆ ต่อไป ด้วยวิสัยทัศน์คือการพัฒนายาเพื่อช่วยพัฒนางานด้านสุขภาพและประโยชน์ต่อสาธารณชน มุ่งหวังให้ประเทศกำลังพัฒนาพึ่งตนเองได้ด้านยาและเพื่อความมั่นคงของประเทศในระยะยาวต่อไป