กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNFPA) และบริษัทเรกคิทท์ เบนคีเซอร์ เฮลธ์แคร์ แมนูแฟคเจอร์ริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด (Reckitt) ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการการพัฒนาและส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพและถ้วนหน้า (Safe Birth for All) พร้อมมอบเกียรติบัตร เพื่อเป็นเกียรติแก่ผดุงครรภ์โบราณกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ณ ห้องประชุมเทศบาล ตำบลแม่สะเรียง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมี นายวิมล สามเมือง ปลัดอำเภอแม่สะเรียง พร้อมด้วย นายมนตรี บำรุงกิจ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลแม่สะเรียง และคณะให้การต้อนรับ
นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ผดุงครรภ์โบราณกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการลดการตายมารดาและทารกในพื้นที่ชายขอบและห่างไกล ช่วยให้หญิงมีครรภ์ ได้รับการดูแลอย่างถูกต้องเหมาะสม เนื่องจากกลุ่มชาติพันธุ์และชายขอบเป็นประชากรราวร้อยละ 60 ของประชากรในพื้นที่ และข้อจำกัดด้านการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ทำให้ยังมีการคลอดที่บ้าน โดยผดุงครรภ์โบราณ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีผดุงครรภ์โบราณ กว่า 800 คน ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และ ตาก ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ ศูนย์อนามัยที่ 2 พิษณุโลก และศูนย์อนามัยกลุ่มชาติพันธุ์ ชายขอบ และแรงงานข้ามชาติ (ศอช.)
“ทั้งนี้ การดำเนินงานที่ผ่านมา กรมอนามัยได้สนับสนุนบทบาทของผดุงครรภ์โบราณกลุ่มชาติพันธุ์ บนพื้นที่สูง โดยส่งเสริมความรู้และทักษะในการทำคลอดอย่างปลอดภัย พร้อมสนับสนุนชุดทำคลอดฉุกเฉิน และสื่อโปสเตอร์ประเมินความเสี่ยงของหญิงตั้งครรภ์ผ่านพนักงานสุขภาพชุมชน (พสช.) ครูอาสาสมัคร (ศศช.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ตลอดจนการดูแลสุขภาพหญิงหลังคลอดและทารกให้มีสุขภาพดี เนื่องจากงานอนามัยแม่และเด็กนับเป็นบริการสุขภาพพื้นฐานที่สำคัญของการพัฒนาคุณภาพประชากร เริ่มตั้งแต่การดูแลครรภ์เพื่อให้การตั้งครรภ์และการคลอดมีคุณภาพ มารดาและทารกปลอดภัย ปราศจากภาวะแทรกซ้อน และมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ต่อเนื่องถึงการดูแลเด็กช่วงปฐมวัย เพื่อให้เด็กเจริญเติบโตและพัฒนาการสมวัยอย่างองค์รวม มีสุขภาวะทางกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ตามช่วงวัยที่เหมาะสมต่อไป” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
กรมอนามัย / 3 ธันวาคม 2564