องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม จัดงานสัมมนาวิชาการนานาชาติ “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ครั้งที่ 2 : ความหลากหลายทางชีวภาพและการเปลี่ยนแปลงของโลกในสภาวะปัจจุบัน” เพื่อเป็นพื้นที่ให้นักวิจัยและผู้ที่มีความสนใจด้านงานพิพิธภัณฑ์ และนักธรรมชาติวิทยาได้มาร่วมแสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทั้งยังสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างพิพิธภัณฑ์และสถาบันต่างๆ ซึ่งนำไปสู่ความยั่งยืนของการพัฒนา เผยแพร่ และเก็บรักษาองค์ความรู้ด้านธรรมชาติวิทยาต่อไป โดยงานจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 2-3 ธันวาคม 2564 ณ พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า คลองห้า ปทุมธานี
นายสุวรงค์ วงษ์ศิริ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า “อพวช. เป็นหน่วยงานซึ่งมีภารกิจหลักในการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ โดยมี สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา เป็นศูนย์กลางของการศึกษาวิจัยด้านธรรมชาติวิทยาของประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง อีกทั้งยังเป็นศูนย์จัดแสดงนิทรรศการความหลากหลายทางชีวภาพ ที่มุ่งเน้นนำเสนอผลงานวิจัยและการเก็บรักษาวัตถุตัวอย่างเพื่องานในด้านพิพิธภัณฑ์ พร้อมทั้งใช้เป็นตัวอย่างอ้างอิงทางวิชาการและศึกษา วิจัย ให้กับบุคคลทั่วไป ซึ่งทาง อพวช. ถือเป็นหน่วยงานที่มีผู้เชี่ยวชาญทางด้านธรรมชาติวิทยาอันดับต้น ๆ ของประเทศ ที่มุ่งมั่นทำการศึกษาและพัฒนาด้านนี้มาโดยตลอดและเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ สำหรับการจัดงานสัมมนาวิชาการนานาชาติ “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ครั้งที่ 2 : ความหลากหลายทางชีวภาพและการเปลี่ยนแปลงของโลกในสภาวะปัจจุบัน” ในครั้งนี้ ถือเป็นเวทีของนักวิชาการด้านธรรมชาติ ที่จะได้นำเสนอผลงานทางด้านงานวิจัยที่น่าสนใจให้แก่นักวิจัย นักธรรมชาติวิทยา และผู้ที่มีความสนใจด้านงานพิพิธภัณฑ์ ได้มาร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทั้งยังได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างพิพิธภัณฑ์และสถาบันต่างๆ ซึ่งนำไปสู่ความยั่งยืนของการพัฒนา เผยแพร่ และเก็บรักษาองค์ความรู้ด้านธรรมชาติวิทยาอีกด้วย”
สำหรับการสัมมนาฯ ครั้งนี้ จะได้รับองค์ความรู้ทางด้านธรรมชาติวิทยา โดยแบ่งออกเป็น 3 หัวข้อหลักๆ ได้แก่
1.งานวิจัยธรรมชาติวิทยาร่วมสมัย (Natural Science Research) สร้างความเข้าใจในงานวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพสาขาต่างๆ
2.การจัดการคลังพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา (Collection Related Work) เรียนรู้และเข้าใจการเก็บรักษาตัวอย่างอ้างอิงทางธรรมชาติวิทยาในรูปแบบต่างๆ
3.พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยากับสาธารณชน (Museum and Public) นำเสนอการพัฒนากิจกรรมและสื่อการเรียนรู้ในด้านธรรมชาติวิทยาและพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกับงานด้านธรรมชาติวิทยา
นายสุวรงค์ฯ เพิ่มเติมว่า “หวังว่าการจัดกิจกรรมสัมมนาฯ ในครั้งนี้ จะสร้างเครือข่ายที่ส่งเสริมงานด้านธรรมชาติวิทยามากขึ้น รวมทั้งได้สร้างความตระหนักด้านธรรมชาติวิทยาและความหลากหลายทางชีวภาพให้กับสังคมไทย และร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเพื่อก้าวไปสู่ความมั่นคงทางธรรมชาติของประเทศต่อไป”