กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้า กำจัดโรคไข้มาลาเรียให้หมดจากประเทศไทยในปี 2567 ด้วย 5 มาตรการ พร้อมมอบใบประกาศนียบัตรรับรอง 35 จังหวัดปลอดโรคไข้มาลาเรีย คาดว่าดำเนินการแล้วเสร็จก่อนแผนที่กำหนดไว้
วันที่ 25 เมษายน 2561 ที่อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพค เมืองทองธานี นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการเป็นประธานเปิดกิจกรรมรณรงค์ “World Malaria Day : Ready to beat malaria ไทยพร้อม ร่วมแรงร่วมใจ กำจัดไข้มาลาเรีย” เนื่องในวันมาลาเรียโลก 25 เมษายน ว่า ประเทศไทยนับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก สามารถลดอัตราป่วยด้วยโรคมาลาเรียเหลือเพียง 0.21 ต่อพันประชากร และได้ปรับนโยบายจากการ “ควบคุมโรค” เป็นการ “กำจัดโรค” ตามเกณฑ์องค์การอนามัยโลก เพื่อให้ไทยปลอดจากโรคไข้มาลาเรียในปี 2567 และบรรลุแล้วเสร็จก่อนแผนการดำเนินงานที่กำหนดไว้ โดยมีนโยบายให้ทุกจังหวัดเร่งรัดการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์กำจัดโรคไข้มาลาเรียประเทศไทย พ.ศ. 2560 – 2569 เน้นการพัฒนาระบบเฝ้าระวังควบคุมโรค เร่งรัดการค้นหาผู้ป่วยทั้งที่แสดงอาการและไม่แสดงอาการ เฝ้าระวังควบคุมยุงที่เป็นพาหะนำโรค ส่งเสริมการป้องกันตัวเอง และเฝ้าระวังการเกิดเชื้อดื้อยา โดยกิจกรรมครั้งนี้ มีตัวแทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จาก ทั่วประเทศ เข้าร่วมกว่า 400 คน
ด้านนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรียลดลงจาก 150,000 ราย ในปี พ.ศ. 2543 เหลือ 14,667 ราย ในปี พ.ศ. 2560 หรือลดลงประมาณ ร้อยละ 90 และลดลงมากกว่าร้อยละ 15 เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา รวมทั้งพบพื้นที่แพร่เชื้อลดลงเหลือเพียง 183 อำเภอใน 42 จังหวัด กลุ่มบ้านแพร่เชื้อลดลงเหลือเพียง 2,147 กลุ่มบ้าน โดยพื้นที่แพร่เชื้อส่วนใหญ่เป็นบริเวณชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ในปี 2561 มีพื้นที่ปลอดการแพร่เชื้อได้รับการรับรองเป็นจังหวัดปลอดโรคมาลาเรีย ทั้งสิ้น 35 จังหวัด เป็นจังหวัดที่หยุดการแพร่เชื้อมาลาเรีย และสามารถกำจัดแหล่งแพร่เชื้อให้หมดไปจนไม่มีผู้ป่วยติดเชื้อในพื้นที่ ในปี 2561 พร้อมมอบใบประกาศนียบัตรรับรองจังหวัดดังกล่าว
ด้าน Dr. Richard Goughnour รักษาการตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานแห่งภูมิภาคเอเชีย องค์การสหรัฐอเมริกาเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ ได้กล่าวแสดงความยินดีกับประเทศไทยที่มุ่งมั่นและประสบผลสำเร็จในการผลักดันการกำจัดโรคไข้มาลาเรีย ซึ่งทางรัฐบาลสหรัฐพร้อมให้การสนับสนุนในการกำจัดโรคไข้มาลาเรียในประเทศไทยและทั่วโลก
ทั้งนี้ ในการดำเนินงานประกอบด้วย 5 มาตรการ ดังนี้ 1.ค้นหาผู้ป่วย เน้นการคัดกรองเชิงรุก รายงาน สอบสวนโรค และตอบโต้โรคให้ทันท่วงที 2.เพิ่มการเข้าถึงการบริการอย่างรวดเร็ว 3.เฝ้าระวังควบคุมโรคในกลุ่มประชากรเคลื่อนย้าย แรงงานข้ามชาติ 4.สนับสนุนให้ประชาชนใช้มุ้งชุบสารเคมี และพ่นสารเคมีที่มีฤทธิ์ตกค้างเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด และ 5.สร้างความร่วมมือทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น และประชาสังคม ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตประชาชนในภาพรวม ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ส่งเสริมรายได้ในการ ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน