‘กรมเจรจาฯ’ เร่งเครื่องจัดทำระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน มั่นใจพร้อมให้ผู้ประกอบการเริ่มใช้งาน ก.ค. นี้

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยผลการหารือเรื่องการจัดทำระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง (ASEAN-Wide Self Certification: AWSC) ภายหลังเป็นเจ้าภาพการประชุมของคณะอนุกรรมการด้านกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า เมื่อต้นเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา พร้อมชี้ผู้ประกอบการไทยได้ประโยชน์สูงสุด มั่นใจเริ่มใช้งานได้ตามเป้าหมายที่อาเซียนกำหนดไว้ในเดือนกรกฎาคม 2562

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยผลการประชุมของคณะอนุกรรมการด้านกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Inter-Sessional SC-AROO Meeting) ที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 7 – 9 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ว่าที่ประชุมได้หารือการจัดทำระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง (ASEAN-Wide Self Certification: AWSC) ซึ่งจะเริ่มใช้งานในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยเป็นไปตามเป้าหมายที่อาเซียนได้กำหนดไว้ อาทิ     ผู้ส่งออกที่จะขึ้นทะเบียนเพื่อรับรองถิ่นกำนิดสินค้าด้วยตนเอง (Certified Exporter: CE) สามารถเป็นได้ทั้งผู้ส่งออกและผู้ผลิต การกำหนดจำนวนผู้มีสิทธิขึ้นทะเบียน ไม่เกิน 10 คนต่อ 1 บริษัท และยังมีประเด็นที่อาเซียนต้องหารือ อาทิ คุณสมบัติของผู้มีสิทธิรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง และรูปแบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่อนุญาตให้ประเทศผู้นำเข้าซื้อสินค้าโดยประเทศคนกลางในอาเซียนได้ ซึ่งที่ผ่านมาจะอนุญาตให้ซื้อจากประเทศผู้ผลิตและส่งตรงมายังผู้ซื้อเท่านั้น

นางอรมน เสริมว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยได้เข้าร่วมโครงการนำร่องระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง ทั้งโครงการนำร่องฯ ที่ 1 และโครงการนำร่องฯ ที่ 2 ในการส่งสินค้าไปประเทศสมาชิกอาเซียนมาแล้ว ตั้งแต่ปี 2553 และปี 2557 ตามลำดับ ซึ่งทั้งสองโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับภาคเอกชน ซึ่งปัจจุบันไม่ต้องใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form D) ในการขอใช้สิทธิพิเศษทางภาษีเพื่อส่งออกไปยังอาเซียน แต่สามารถรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าได้ด้วยตัวเอง ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลา ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และลดความผิดพลาดในการกรอกข้อมูล Form D   ทั้งนี้ ทั้ง 2 โครงการมีการกำหนดเงื่อนไขการใช้แตกต่างกัน อาทิ โครงการนำร่องฯ ที่ 1 จะให้ผู้ส่งออกหรือผู้ผลิตเป็นผู้รับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ขณะที่โครงการนำร่องฯ ที่ 2 จะอนุญาตเฉพาะผู้ส่งออกที่เป็นผู้ผลิตเท่านั้น จึงทำให้มีประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมแตกต่างกัน  โดยสมาชิกอาเซียนที่เข้าร่วมโครงการนำร่องฯ ที่ 1 ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย กัมพูชา บรูไน และเมียนมา ในขณะที่สมาชิกอาเซียนที่เข้าร่วมโครงการนำร่องฯ ที่ 2 ได้แก่ ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สปป.ลาว และเวียดนาม จากการดำเนินโครงการนำร่องฯ มาระยะหนึ่ง อาเซียนเห็นว่าควรปรับประสานโครงการนำร่องฯ ทั้ง 2 โครงการร่วมกัน จึงจัดทำระบบ AWSC ขึ้น เพื่อให้อาเซียนใช้ร่วมกันทั้ง 10 ประเทศ ซึ่งไทยจะได้รับประโยชน์จากระบบดังกล่าวมากที่สุด เนื่องจากเป็นประเทศเดียวที่เข้าร่วมโครงการนำร่องฯ ทั้ง 2 โครงการ โดยระบบ AWSC จะลดความสับสนของผู้ประกอบการ เนื่องจากที่ผ่านมา หากผู้ประกอบการไทยต้องการใช้สิทธิภายใต้โครงการนำร่องฯ ใด ก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขภายใต้โครงการนำร่องฯ นั้น

ทั้งนี้ ข้อมูลสถิติการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้โครงการนำร่องระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองพบว่าไทยเป็นประเทศที่มีผู้ส่งออกที่ขึ้นทะเบียนมากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยไทยมีจำนวนผู้ส่งออกที่ขึ้นทะเบียนรวมทั้งสิ้น 316 ราย อันดับที่ 2 มาเลเซีย 188 ราย และอันดับที่ 3 สิงคโปร์ 76 ราย นอกจากนี้ ในปี 2561 ตลาดส่งออกที่ไทยใช้สิทธิภายใต้โครงการนำร่องระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองสูงสุดตามลำดับ เช่น มาเลเซีย 1,724 ล้านเหรียญสหรัฐ เวียดนาม 250 ล้านเหรียญสหรัฐ และสิงคโปร์ 96 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นต้น โดยสินค้าส่งออกสำคัญภายใต้โครงการนำร่องฯ อาทิ อุปกรณ์และชิ้นส่วนของเครื่องจักร ยานยนต์และชิ้นส่วน เฟอร์นิเจอร์ พลาสติก เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ

——————————————–

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

18 กุมภาพันธ์ 2562