“สุขภาพดีไม่มีขาย หากอยากได้ต้องเริ่มที่ตัวเอง” ในปี 2565 นี้ ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ด้วยสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปตามวัยและการดำเนินชีวิต อายุที่สูงขึ้นสภาพร่างกายเกิดความเสื่อมถอย การปฏิบัติตนในการดูสุขภาพที่ไม่ถูกต้องส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วย การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในทุกมิติจึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่พบมากที่สุด
ปี 2564 มีจำนวนผู้สูงอายุเกิน 20% ของประชากร คิดเป็นจำนวน 13 ล้านคน และจะเพิ่มเป็น 28% ในปี 2574 จากการสำรวจประชากรในประเทศไทย พ.ศ. 2554 พบว่า โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง/ คลอเลสเตอรอลสูง เป็นโรคที่ผู้สูงอายุเจ็บป่วยมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 33.69 รองลงมาเป็นโรคเบาหวาน ร้อยละ 15.03 ซึ่งกลุ่มโรคที่พบมากล้วนอยู่ในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, สำนักสถิติพยากรณ์, 2555)
พญ.ขจีรัตน์ ปรักเอโก ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การลดจำนวนผู้ป่วยจากกลุ่มโรค NCDs เป็นภารกิจสำคัญ สสส. โดย สำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ จึงได้ร่วมกับคณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ดำเนินโครงการการพัฒนารูปแบบการจัดบริการทางสังคมและสุขภาพเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพประชาชนพื้นที่ชุมชนเมืองกรุงเทพมหานคร: กรณีผู้สูงอายุ เพื่อมุ่งหวังให้เกิดการจัดการทางสุขภาพที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุภายใต้บริบทความเป็นชุมชนเมือง ครอบคลุมทั้งทางสังคมและสุขภาพ
โดยเป็นรูปแบบที่เกิดจากการศึกษาสถานการณ์ทางสุขภาพและความต้องการจำเป็นของผู้สูงอายุ และสร้างการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในระดับพื้นที่ โดยมีศูนย์สุขภาพชุมชนสุภาพงษ์ ซอยวชิรธรรมสาธิต 68 แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร เป็นชุมชนต้นแบบที่มีความเข้มแข็งและเห็นความเปลี่ยนแปลงมากที่สุด พญ.ขจีรัตน์ กล่าว
รองศาสตราจารย์ ดร.สุภาพ ไทยแท้ คณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวถึงโครงการนี้ว่า โครงการสูงวัย OK ศูนย์สุขภาพชุมชมสุภาพงษ์ ผู้เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่ที่เข้ามา จะเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีพื้นฐานทางสุขภาพเลย คนชอบคิดว่าถ้าไม่ป่วยก็ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล ถ้าป่วยถึงจะไป ก่อนหน้านี้ไม่มีการทำโครงการเรื่องสร้างเสริมสุขภาพในชุมชนเลย ทางโครงการจึงได้ร่วมกับสำนักงานเขตพระโขนงในการจัดทำแบบฟอร์มคัดกรองทางสุขภาพ สำหรับใช้สำรวจและคัดกรองสุขภาพของประชาชนในเขตพระโขนง และทำงานเชื่อมประสานกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุข ตัวแทนผู้สูงอายุ ผู้ดูแล กลุ่มอาสาสมัคร ร่วมกันดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชน โดยมีขั้นตอนการดำเนินงาน ดังนี้
1.เปิดรับสมัครและลงทะเบียนผู้สูงอายุที่สนใจเข้าร่วมโครงการ
2.ตรวจคัดกรองสุขภาพให้กับผู้สูงอายุและประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ
3.หลังตรวจคัดกรองสุขภาพให้แล้ว จะทำการนัดฟังผลสุขภาพของแต่ละบุคคล
4.หากพบว่าผู้สูงอายุคนไหนที่ภาวะของโรคที่รุนแรง จำเป็นต้องเร่งดำเนินการรักษา ทางศูนย์สุขภาพจะประสานงานส่งต่อไปยังโรงพยาบาลในพื้นที่ดำเนินการรักษาต่อไป แต่หากผู้สูงอายุท่านใดที่อาการไม่รุนแรง สามารถดูแลตนเองได้ ทางศูนย์จะมีเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขให้ความรู้ คำแนะนำในการปฏิบัติตัว
5.ศูนย์สุขภาพชุมชนจะติดตามผลทุก 3 สัปดาห์ โดยจะมีไลน์กลุ่มคอยติดตามผล และให้คำแนะนำ หากผู้สูงอายุท่านใดมีคำถามหรือต้องการปรึกษา ก็จะดำเนินการผ่านไลน์กลุ่ม
6.มีการประชาสัมพันธ์ ลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน ให้ความรู้ในการป้องกันกลุ่มโรค NCDs ให้กับผู้สูงอายุในชุมชนเป็นระยะ
7.มีกิจกรรมที่กระตุ้นให้คนในชุมชนมีการตื่นตัวดูแลสุขภาพตนเอง หันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต
ดร.สุภาพ กล่าวต่ออีกว่า จากเดิมที่เริ่มทำโครงการมีผู้เข้าร่วมเพียงแค่ 20 คน ผู้เข้าร่วมโครงการมาจากการชักชวนกัน บอกกล่าวต่อ ๆ กันว่าเข้าร่วมโครงการนี้ดี มีกิจกรรมให้ทำ มีผลตอบรับดีขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากดำเนินโครงการไปได้ระยะหนึ่ง ตอนนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 70 คน ผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการมีสุขภาพที่ดีขึ้น เกิดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน
10 ภารกิจสูงวัยทำได้ Active 60 Challenge สู้โควิด-19
1.ดื่มน้ำสะอาด 8 แก้วต่อวัน
2.แกว่งแขนอย่างถูกวิธี
3.ทำงานบ้าน ดูแลสวน
4.ออกกำกลังกาย ป้องกันการหกล้ม เพิ่มกิจกรรมทางกาย
5.เล่นเกมฝึกทักษะสมอง ป้องกันสมองเสื่อม
6.กินอาหารถูกหลักโภชนาการ สูตร 2:1:1 ลดอาหารหวาน มัน เค็ม
7.ยืดเหยียดเบา ๆ สัมผัสแสงแดดยามเช้า
8.นั่งสมาธิผ่อนคลายความเครียด
9.กินธัญพืช ผักผลไม้ 5 สี ที่สะอาดและปลอดสารเคมี
10.อ่านหนังสือ ติดตามข่าวสารแต่พอดี
งานป้องกันและลดจำนวนผู้ป่วยในกลุ่มโรค NCDs เป็นภารกิจสำคัญที่ สสส. และภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันรณรงค์ ผลักดันและสนับสนุนให้คนไทยหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ทั้งการบริโภค การมีกิจกรรมทางกาย และการมีสุขภาพจิตที่ดี ร่วมสร้างสังคมผู้สูงอายุคุให้มีสุขภาวะที่ดีครบในทุกมิติ