หากค้นหาคำว่า “ความรุนแรงในครอบครัว” ในเว็บไซต์กูเกิ้ล พบว่า มีผลลัพธ์ของการค้นหาถึง 24,200,000 ผลลัพธ์ นับว่า ความรุนแรงในครอบครัว เป็นสิ่งที่คนพูดถึงอยู่จำนวนไม่น้อย คงต้องยอมรับว่า ความรุนแรงในครอบครัว เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่พบบ่อยในสังคม และรู้หรือไม่ว่า 3 ใน 4 ของผู้เสียหายถูกกระทำซ้ำและทวีความรุนแรง
องค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล โดยทั่วโลกได้มีการใช้สัญลักษณ์ริบบิ้นสีขาวแสดงออก เพื่อรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว และเนื่องในโอกาสนี้เอง มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และวันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล ภายใต้แนวคิด “ความรุนแรงในบ้าน ให้มันจบที่ครั้งแรก” พร้อมจัดแสดงพิพิธภัณฑ์เสมือนจริง “Museum of First Time” รูปแบบออนไลน์
นายจะเด็จ เชาว์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวถึงที่มาของการจัดกิจกรรมรณรงค์ในครั้งนี้ว่า ในปีนี้ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ได้ร่วมกับ สสส. และวันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย ในการจัดทำแคมเปญร่วมกัน ซึ่งเป็นแคมเปญที่เกิดจากปัญหาของผู้หญิงที่ถูกใช้ความรุนแรงในครอบครัวและในบ้าน กิจกรรมในครั้งนี้จัดขึ้น เพื่อเรียนรู้และหาทางออกร่วมกัน เพื่อยุติปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวถึงปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นในสังคมว่า กิจกรรมในครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่จะได้สื่อสาร ย้ำเตือนถึงปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งไม่ใช่ปัญหาทางกายเท่านั้น แต่รวมทั้งผลกระทบทางด้านจิตใจอีกด้วย ซึ่งส่งผลต่อการดำรงชีวิต และยังขัดขวางการมีสุขภาวะดีในชีวิตทั้ง 4 ด้าน คือ กาย จิต ปัญญา และสังคม
“สสส. รณรงค์ลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งถือเป็นปัจจัยร่วมที่ทำให้ผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรง โดยความรุนแรงในครอบครัวที่มีต่อเด็กและผู้หญิง 80% เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะมีฤทธิ์ทำให้ผู้ดื่มขาดสติ จนอาจเป็นเหตุทำให้เกิดการกระทบกระทั่งในครอบครัว ซึ่งปัญหาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มี 4 มิติ ได้แก่
1. ทำลายสุขภาพ
2. เสี่ยงทำให้เกิดอุบัติเหตุ
3. เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ
4. ความรุนแรงในครอบครัว”
นางสาวรุ่งอรุณ ยังกล่าวต่ออีกว่า ความรุนแรงในครอบครัวส่วนใหญ่เกิดกับเพศหญิง แม่ ภรรยา และลูก และถ้าเกิดครั้งแรกก็จะมีครั้งต่อไป ดังนั้น เราต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ ให้เขามีสิทธิ์ที่จะไม่ถูกกระทำความรุนแรง
ด้าน นางสาวจรีย์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวถึงผลสำรวจที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลได้สำรวจ ว่า สถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด -19 โดยพฤติกรรมความรุนแรงในครอบครัว 5 อันดับแรก ได้แก่ พูดส่อเสียด เหยียดหยาม ดูถูก ด่าทอ, ทำท่าทีห่างเหิน ไม่รับผิดชอบต่อคนในครอบครัว, ทำให้อาย ประจาน,ทำร้ายร่างกาย และคบชู้
โดย 31.4 % พบว่า ปัจจัยกระตุ้นมาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในขณะที่การเกิดเหตุการณ์รุนแรงซ้ำ เกิดขึ้นถึง 75% ทั้งยังมีข้อเสนอแนะในการแก้ไขและเยียวยาปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ดังนี้
1.กลไกรัฐต้องทำงานเชิงรุกมากขึ้น เพราะจากข้อมูลแสดงให้เห็นว่ามีคนจำนวนมากไม่ทราบช่องทางการขอความช่วยเหลือ
2.กลไกการให้ความช่วยเหลือต้องเน้นการปกป้องผู้เสียหาย เพื่อป้องกันการกระทำซ้ำ
3.มีกระบวนปรับทัศนคติการใช้อำนาจเหนือ (ชายเป็นใหญ่) รวมถึงการลดปัจจัยจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยต้องมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างจริงจัง
4.รณรงค์ให้ประชาชนรับรู้สิทธิ เข้าถึงสิทธิ มีทางออกในการแก้ปัญหา โดยหน่วยงานต่าง ๆ ต้องสนับสนุน และเข้าใจในประเด็นความรุนแรงในครอบครัว
อย่างไรก็ตาม มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลพร้อมช่วยเหลือทั้งทางกฎหมายและการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ซึ่งติดต่อได้ทาง 02-513-2889 หรือ Facebook “มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล” หรือโทร.สายด่วน 1300
ในโอกาสวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากลนี้ เชิญชวนให้ทุกคนรับชมพิพิธภัณฑ์เสมือนจริง “ครั้งแรกของผู้หญิง” หรือ “Museum of First Time” โดยผู้สนใจสามารถเข้าชมผลงานได้ที่ www.museumof1sttime.com
“ครอบครัว” ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน เพราะพื้นฐานของการสร้างครอบครัวนั้นล้วนเกิดจากความรัก และความอยากดูแลประคับประคองซึ่งกันและกันไปตลอดชีวิต อย่าลืมจุดเริ่มต้นของการสร้างความครอบครัว หยุดทำร้ายคนที่รัก หยุดการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง
สสส.และภาคีเครือข่าย หวังเพียงให้ผู้หญิงที่ถูกทำร้ายกล้าลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง ตลอดจนหวังให้เกิดสังคมที่มีความเท่าเทียมทางเพศในที่สุด และอยากให้ความรุนแรงในบ้านนั้น จบที่ครั้งแรก เพื่อสุขภาวะที่ดีของทุกคนในครอบครัวและสังคม