กทม. ขอความร่วมมือประชาชนแยกขยะติดเชื้อโควิด-19 อย่างถูกวิธี ลดการแพร่เชื้อ

(29 พ.ย. 64) นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (เดือน เม.ย. – ต.ค. 64) กรุงเทพมหานครมีปริมาณขยะติดเชื้อทั้งหมดเฉลี่ย 96.75 ตัน/วัน โดยแบ่งเป็นมูลฝอยติดเชื้อทั่วไปจากสถานบริการการสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิก เป็นต้น เฉลี่ย 57.27 ตัน/วัน และมูลฝอยติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงหน้ากากอนามัยใช้แล้วจากสถานที่รักษาผู้ป่วยโควิด-19 และผู้กักตัว ได้แก่ สถานที่กักตัวของรัฐและโรงแรมทางเลือกสำหรับผู้กักตัว โรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาลโรงแรม หน่วยบริการตรวจเชิงรุก ศูนย์บริการฉีดวัคซีน และสถานที่สำหรับผู้กักตัวในอาคารพักอาศัยประเภทต่าง ๆ เช่น หอพัก อพาร์ทเม้นท์ คอนโดมิเนียม และบ้านพักอาศัย ในพื้นที่กรุงเทพฯ เฉลี่ย 39.48 ตัน/วัน โดยในเดือน พ.ย. 64 (ตั้งแต่วันที่ 1-25 พ.ย. 64) มีปริมาณขยะติดเชื้อทั้งหมดเฉลี่ย 82.75 ตัน/วัน แบ่งเป็นมูลฝอยติดเชื้อทั่วไป เฉลี่ย 58.15 ตัน/วัน และมูลฝอยติดเชื้อโควิด-19 เฉลี่ย 24.60 ตัน/วัน

สำหรับการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการบริหารจัดการขยะติดเชื้อทั่วไป กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดอบรมให้กับบุคลากรของสถานบริการสาธารณสุขในพื้นที่ เช่น โรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิก เป็นต้น เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจการจัดการขยะติดเชื้ออย่างถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลและกฎหมายที่กำหนดอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ได้จัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจให้แก่ผู้ปฏิบัติงานเก็บขนขยะติดเชื้อโควิด-19 ให้มีความรู้ ความเข้าใจ รวมถึงเรียนรู้วิธีการปฏิบัติงานการเก็บ รวบรวม และขนส่งมูลฝอยติดเชื้ออย่างถูกต้องตามหลักวิชาการและปลอดภัย พร้อมทั้งร่วมมือกับสำนักงานเขตในการสื่อสารประชาสัมพันธ์และให้คำแนะนำประชาชน หน่วยงาน สถานประกอบการ ในการคัดแยก ทำลายเชื้อ และรวบรวมทิ้งหน้ากากอนามัยและชุดตรวจ ATK อย่างถูกวิธี ไม่ปะปนกับขยะทั่วไป รวมทั้งประสานชุมชนร่วมประชาสัมพันธ์เสียงตามสายเพื่อสร้างความเข้าใจและขอความร่วมมือจากประชาชนในการแยกทิ้งขยะติดเชื้อด้วย

นอกจากนี้ ยังได้จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้ประชาชนทราบวิธีการทิ้งและแยกขยะติดเชื้อโควิด-19 จากขยะในครัวเรือน ชุมชน พร้อมเน้นย้ำและขอความร่วมมือในการแยกทิ้งหน้ากากอนามัยและชุดตรวจ ATK อย่างถูกวิธี โดยนำหน้ากากอนามัยใส่ถุงที่ปิดสนิท มัดปากถุงให้แน่น เขียนหรือติดหน้าถุงว่า “หน้ากากอนามัย” และสำหรับประชาชนที่มีการใช้ชุดทดสอบแอนติเจน (Antigen Test Kit) เมื่อใช้เสร็จแล้ว ให้นำใส่ถุงหรืออาจทิ้งรวมในถุงหน้ากากอนามัยใช้แล้ว โดยทำการฆ่าเชื้อโรคด้วยการราดหรือฉีดพ่นด้วยแอลกอฮอล์หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค แล้วมัดหรือปิดปากถุงให้สนิท เขียนหรือติดหน้าถุงว่า “ขยะติดเชื้อ” และสามารถแยกทิ้งได้ 2 วิธี ได้แก่

1. แยกทิ้งในถังรองรับขยะติดเชื้อ (สีแดง) หรือถังรองรับหน้ากากอนามัยเฉพาะ (สีส้ม)

2. แยกทิ้งให้กับรถเก็บขนมูลฝอยของสำนักงานเขต ซึ่งกรุงเทพมหานครจะเก็บรวบรวมและนำไปกำจัดอย่างถูกหลักสุขาภิบาลต่อไป

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้จัดหาถังขยะติดเชื้อ (สีแดง) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการทิ้งขยะหน้ากากอนามัยและชุดตรวจ ATK โดยมีจุดตั้งวางในหมู่บ้าน ชุมชน เช่น ศูนย์สุขภาพชุมชน ที่ทำการชุมชน โรงเรียน วัด มัสยิด เป็นต้น เพิ่มเติมจากถังรองรับหน้ากากอนามัยเฉพาะ (สีส้ม) เดิม ซึ่งตั้งวางในพื้นที่สาธารณะและหน่วยงานสังกัดกทม. อาทิ สำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. โรงพยาบาลสังกัด กทม. ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) และศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) โรงเรียนสังกัด กทม. ศูนย์กีฬา กทม. ศูนย์เยาวชน กทม. สถานีดับเพลิง และสถานที่สาธารณะที่เหมาะสม เช่น ตลาด วัด ชุมชน บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้า และอาคารสำนักงานเคหะชุมชนต่าง ๆ เป็นต้น
———-