ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึง สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์)ว่า ปัจจุบัน(16 ก.พ. 62) มีปริมาณน้ำรวมกัน 15,250 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.) หรือคิดเป็นร้อยละ 61 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 8,554 ล้าน ลบ.ม. สำหรับสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ 430 ลบ.ม./วินาที คงปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาที่ 90 ลบ.ม./วินาที ปริมาณน้ำท่าในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอยู่ในเกณฑ์น้อย กรมชลประทานได้บริหารจัดการระบายน้ำ ให้สอดคล้องกับแผนการจัดสรรน้ำและความต้องการใช้น้ำตามความเหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง
ในส่วนของผลการจัดสรรน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา จนถึงขณะนี้มีการใช้น้ำไปแล้ว 5,442 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 68 ของแผนฯ(แผนตั้งไว้ 8,000 ล้าน ลบ.ม. คงเหลือปริมาณน้ำต้นทุนที่สามารถจัดสรรได้ไปจนถึงวันที่ 30 เม.ย. 62 ประมาณ 2,558 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร และอื่นๆ ตามแผนที่วางไว้ โดยในส่วนของการเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูแล้ง 6.07 ล้านไร่ ขณะนี้เกษตรกรปลูกไปแล้ว 5.94 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 98 ของแผนฯ ใกล้เต็มพื้นที่แล้ว (ข้อมูล ณ วันที่ 13 ก.พ. 62) เฉพาะการปลูกข้าวนาปรังในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการเพาะปลูกไปแล้ว 5.86 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 110 ของแผนฯ(แผน 5.30 ล้านไร่) จะเห็นได้ว่า ทำการปลูกข้าว นาปรังเกินกว่าแผนที่ได้กำหนดไว้แล้วประมาณร้อยละ 10 ของแผนฯ
กรมชลประทาน จะดำเนินการควบคุมการใช้น้ำและรักษาระดับน้ำในแม่น้ำสายหลักและระบบชลประทานตามเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อให้มีปริมาณน้ำต้นทุนไว้ใช้ในช่วงฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม 2562 ประมาณ 5,500 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร และอื่นๆ ทั้งนี้ ขอความร่วมมือจากเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวข้าวแล้ว (นาครั้งที่ 2) ไม่เพาะปลูกต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดและขอให้ทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่าที่สุด
******************************************************
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ
กรมชลประทาน