สช.จัดวงเสวนา “รวมพลังชุมชนต้านมะเร็ง” หนึ่งใน Side Event ประจำสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่ 14 ระดมหลากแง่มุมจากการปฏิบัติจริงของการป้องกัน “โรคมะเร็ง” ด้วยพลังของคนในชุมชน ย้ำความรู้-ทัศนคติต่อโรคเป็นสิ่งสำคัญ ช่วยกันทำความเข้าใจ-ป้องกันการเจ็บป่วย ชี้แม้เป็นแล้วหากตรวจเจอก่อน-เร็ว ก็มีสิทธิรักษาหายได้ไม่ยาก
เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2564 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬากรณ์ และภาคีเครือข่าย จัดเวทีเสวนา “รวมพลังชุมชนต้านมะเร็ง” ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Side Event) ของการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการตื่นตัวต่อการป้องกันมะเร็ง การรณรงค์สื่อสารกับประชาชน รวมถึงสร้างการรับรู้การขับเคลื่อนงานและชุมชนตัวอย่างที่ดำเนินการด้านมะเร็ง
รศ.นพ.เอกภพ สิระชัยนันท์ นายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ประเทศไทยนั้นมีจำนวนอายุรแพทย์โรคมะเร็งเพียง 4 คน ต่อประชากร 1 ล้านคน เทียบกับสหรัฐอเมริกาที่มีจำนวน 160 คน ต่อประชากร 1 ล้านคน หรือน้อยกว่าถึง 40 เท่า จึงนับว่ายังอีกห่างไกลในการที่จะดูแลผู้ป่วยมะเร็งในไทยได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นเป้าหมายหลักคือการสร้างคน โดยนอกจากการฝึกอบรมแพทย์ให้มีความเชี่ยวชาญในการรักษามะเร็งเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นรณรงค์ให้ความรู้กับประชาชนทั่วไปเพื่อตระหนักถึงการคัดกรองโรค
“เราทำงานตั้งรับกันมานาน ซึ่งคิดว่าต่อไปคงจะลำบาก ดังนั้นเราอาจต้องรุกบ้าง คือการทำอย่างไรให้คนไทยเป็นมะเร็งน้อยลง หรือหากเป็นก็ต้องเจอตั้งแต่ระยะแรกๆ อย่าไปเจอในระยะหลังซึ่งรักษายากกว่ามาก ซี่งสิ่งที่จะมีผลได้มากคือการผลักดันการตรวจคัดกรองมะเร็งให้เป็นนโยบายของรัฐ กับอีกส่วนสำคัญคือยา ที่จะใช้ต่อสู้กับโรคมะเร็ง ซึ่งปัญหาคือยาดีๆ ที่มีประสิทธิภาพจะมีราคาแพงมาก จนคนไข้ส่วนใหญ่เข้าไม่ถึง เราจึงต้องช่วยกันผลักดันให้ยามีราคาถูกลง และสามารถบรรจุเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติได้” รศ.นพ.เอกภพ กล่าว
ผศ.นพ.วิสุทธิ์ ล้ำเลิศธน รองคณบดีวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า หนึ่งในพันธกิจของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ คือการมุ่งสร้างความเข้มแข็งด้านสุขภาพที่ยั่งยืนให้กับชุมชน โดยได้เริ่มดำเนินการในพื้นที่ชุมชนเคหะหลักสี่ซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียง ผ่านโครงการอาสาจุฬาภรณ์ ที่เป็นการพัฒนาศักยภาพของชาวชุมชนจิตอาสาที่อยากดูแลตนเอง ครอบครัว รวมถึงคนในชุมชน มาอบรมกระจายความรู้ในเรื่องของสุขภาพ
ผศ.นพ.วิสุทธิ์ กล่าวว่า ความท้าทายของเขตเมืองหรือกรุงเทพมหานคร (กทม.) คือการที่จะรวมพลังของคนในชุมชนเข้ามาอย่างไร เนื่องจากลักษณะของสังคมเมืองที่ต่างคนต่างอยู่ อย่างไรก็ตามชุมชนเคหะหลักสี่ก็ได้ตอบรับและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยเริ่มจากการพูดคุยสะท้อนปัญหาด้านสุขภาพ สิ่งที่ชุมชนต้องการ ซึ่งเมื่อพบว่าชุมชนอยากให้มีการตรวจคัดกรองโรค ทางราชวิทยาลัยก็ได้จัดให้บริการ รวมถึงให้คนในชุมชนมาอบรม กระจายความรู้กันเรื่อยมา
“เรามีอาจารย์แพทย์จากวิทยาลัยมาร่วมอบรมให้ความรู้คนในชุมชนหลากหลายด้าน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็ง หรือแม้กระทั่งการสอนทักษะกู้ชีพเบื้องต้น ขณะเดียวกันนักศึกษาของวิทยาลัยก็ได้มา เก็บข้อมูลไปวิเคราะห์ พัฒนางานวิจัยไปพร้อมกัน แม้แต่ในช่วงโควิดกลุ่มอาสาจุฬาภรณ์ก็ได้มีความตื่นตัว สามารถจัดการกันเองภายในชุมชนได้ เราจึงหวังว่าในอนาคตชุมชนเคหะหลักสี่ จะเป็นต้นแบบในการเสริมความเข้มแข็ง ที่สามารถไปประยุกต์ใช้กับที่อื่นได้” ผศ.นพ.วิสุทธิ์ กล่าว
นางนันทวัน สุวัฒนา อาสาจุฬาภรณ์ รุ่นที่ 1 กล่าวว่า การรวมพลังชุมชนต้านมะเร็ง ของชุมชนเคหะหลักสี่ ถือได้ว่าประสบความสำเร็จจากจิตอาสาที่เข้าร่วมโครงการ เป็นคนในชุมชนกว่า 40 คน และนักศึกษาแพทย์ที่เข้ามาช่วยเหลืออีกกว่า 40 คน โดยกลุ่มอาสาเหล่านี้จะให้การดูแลผู้พักอาศัยในชุมชน เป็นการให้ความรู้ในด้านสุขภาพ การป้องกัน การเกิดโรคมะเร็ง รวมไปถึงการบันทึกข้อมูลของผู้พักอาศัย เพื่อจัดเก็บทำสถิติผู้ป่วยในแต่ละอาคาร
“เราได้มีการสอบถามประวัติ อาการ เพื่อค้นหาผู้ป่วยแต่ละรายให้ได้เข้ารับการรักษาตั้งแต่ระยะแรกๆ ก่อนที่จะลุกลาม อันจะเป็นการลดความสูญเสียของบุคคลในครอบครัว รวมถึงลดค่าใช้จ่ายที่สูงมากในการรักษา โดยเราคาดหวังที่จะให้ทุกคนในชุมชนมีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ และได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งเป็นประจำ พร้อมที่จะร่วมมือกันช่วยเหลือเพื่อการลดละเลิกสิ่งที่จะก่อให้เกิดโรคมะเร็ง เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานอาหารปิ้งย่าง สุกๆ ดิบๆ” นางนันทวัน กล่าว
ขณะที่ ว่าที่ ร.ต.วชิรพล พงษ์เกษ ผู้นำชุมชนเคหะหลักสี่ กล่าวว่า ภายหลังการเคหะแห่งชาติ โอนกรรมสิทธิ์ชุมชนเคหะหลักสี่มาให้เป็นนิติบุคคลที่บริหารจัดการกันเอง ชาวชุมชนจึงต้องจัดการและดูแลตัวเองให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นในด้านสาธารณูปโภคหรือสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามความโชคดีของชุมชนนี้คือการอยู่ใกล้กับโรงพยาบาลที่ไม่ทอดทิ้งชุมชน และมีส่วนร่วมกันในการสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง สนับสนุนการเสริมสร้างสุขอนามัย ซึ่งจะเป็นการพัฒนาให้ชุมชนเข้มแข็งและปลอดโรคภัยต่อไปในอนาคต
ด้าน น.ส.ศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง กล่าวว่า โรคมะเร็งไม่ได้มีความซับซ้อนทางการรักษาเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับทัศนคติ เช่น เป็นมะเร็งแล้วทรมาน รักษาแพง คนไม่มีฐานะรักษาไม่ได้ ถ้าเป็นแล้วขอตายดีกว่า ทำให้โรคนี้นอกจากจะมีผลกับร่างกายแล้ว ยังมีผลกับจิตใจของผู้ป่วย ทั้งยังกระทบไปสู่ครอบครัวและบุคคลรอบข้างด้วย ฉะนั้นการรวมตัวกันของเครือข่ายผู้ป่วยจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะเข้ามาช่วยเยียวยาสิ่งเหล่านี้ ทั้งการให้ความรู้และเติมเต็มกำลังใจซึ่งกันและกัน
“การรวมตัวของเครือข่ายผู้ป่วย เป็นการช่วยลดงานหมอในการสื่อสารทำความเข้าใจต่างๆ เพราะที่ผ่านมาเรามักเจอปัญหาซ้ำๆ เกี่ยวกับความเชื่อที่ไม่ถูกต้องในการรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งความกลัวที่ทำให้คนยังไม่ยอมตรวจคัดกรอง ไม่ว่าด้วยทัศนคติหรือความกังวล จุดนี้เองที่เราอยากรณรงค์ให้คนเห็นว่าถ้าเจอเร็วตั้งแต่ระยะแรก รักษาได้ง่ายกว่า ความเสียหายต่างๆ หรือค่าใช้จ่ายก็น้อยกว่า และแม้จะเป็นมะเร็งแล้วก็รักษาให้หายขาดได้ จึงอยากสนับสนุนให้ทุกคนได้เข้าสู่การคัดกรองตั้งแต่เนิ่นๆ” น.ส.ศิรินทิพย์ กล่าว
///////////////////////////////////