กนอ.สรุปผลเอกชนยื่นซองข้อเสนอรายละเอียดทางเทคนิค-ราคา 2 ทุนยักษ์ใหญ่ กัลฟ์-พีทีทีแทงค์ จับมือร่วมประมูลพัฒนาท่าเรือฯมาบตาพุดระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 คาดรู้ผลและลงนามสัญญาร่วมทุนกับ กนอ.ได้เดือน พ.ค.นี้ มั่นใจท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งเป็น1ใน5โครงการของ EEC Project List พร้อมเดินหน้ากระตุ้นการลงทุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
นางสาว สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่าผลการเข้ายื่นเอกสารประมูลโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่1) ทั้งที่เป็นข้อเสนอรายละเอียดทางเทคนิคและเอกสารรายละเอียดด้านราคา ต่อคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ Public Private Partnership (PPP) Net Cost ในวันที่ 15ก.พ.2562 ตั้งแต่เวลา 08.30 น.และปิดรับซองข้อเสนอภายในเวลา 16.30 น.ในวันเดียวกันที่ กนอ. สำนักงานใหญ่เพื่อให้เอกชนผู้ซื้อซองมีเวลาเตรียมความพร้อมในด้านเอกสาร โดยล่าสุดเมื่อทำการปิดรับซองมีกลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์และพีทีที แทงค์ (บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด) มายื่นข้อเสนอต่อ กนอ.
สำหรับการตรวจสอบเอกสารของบริษัทดังกล่าว คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯ จะเร่งดำเนินการตรวจสอบรายละเอียดตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และ กระบวนการในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน พ.ศ.2560 ของสำนักงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งคาดว่าจะสามารถประกาศผลรายชื่อผู้ที่ชนะการคัดเลือกเอกชน และสามารถลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับภาคเอกชนเข้าพัฒนาในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานได้ประมาณเดือน พ.ค.2562 โดยมีแผนการพัฒนาโครงการฯดังกล่าวแบ่งออกเป็น 2 ช่วง รวมมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 55,400 ล้านบาท ประกอบด้วย
ช่วงที่ 1 การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) โดยภาคเอกชนที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการฯในครั้งจะสามารถเข้าพัฒนาได้ภายหลังจากที่ทำการลงนามในสัญญาร่วมลงทุน (PPP) ซึ่งการร่วมลงทุนในครั้งนี้ภาคเอกชนจะได้สิทธิในการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือ (Superstructure) ประมาณ 200 ไร่ รวมมูลค่าการลงทุน ประมาณ 47,900ล้านบาท แบ่งเป็น กนอ.ร่วมลงทุนเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิไม่เกิน 12,900 ล้านบาท และ ภาคเอกชน 35,000 ล้านบาท ได้แก่ การขุดลอกและถมทะเล พื้นที่ 1,000 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่ใช้ประโยชน์ 550 ไร่ และพื้นที่เก็บกักตะกอน 450 ไร่ การขุดลอกร่องนํ้า และแอ่งกลับเรือ การก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น การก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานการติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการเดินเรือ ท่าเทียบเรือบริการ และท่าเรือก๊าซ รองรับปริมาณการขนถ่ายก๊าซได้ 10 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568
ส่วนช่วงที่ 2 จะเป็นการลงทุนพัฒนาก่อสร้างในส่วนของท่าเรือ (Superstructure) กนอ.จะดำเนินการออกทีโออาร์ เพื่อประกาศเชิญชวนภาคเอกชนที่สนใจเข้าร่วมพัฒนา โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนพัฒนาท่าเทียบเรือสินค้าเหลว รองรับปริมาณ ขนถ่ายสินค้าเหลวได้ 4 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2566 และเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568 ซึ่งจะใช้เงินลงทุนประมาณ 4,300 ล้านบาท และงานก่อสร้างพื้นที่หลังท่า จำนวน 150 ไร่ เงินลงทุน 3,200 ล้านบาท เพื่อรองรับธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เนื่องจากปัจจุบันการใช้งานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งเป็นท่าเรือสาธารณะในระยะที่ 1-2 เต็มศักยภาพรองรับแล้ว จึงจำเป็นต้องขยายเป็นระยะที่ 3 เพื่อรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และสินค้าเหลวสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งคาดว่าจะสามารถรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลวได้เพิ่มอีก 15 ล้านตันต่อปีในอีก30ปีข้างหน้า
”อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ถือเป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเร่งด่วนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หรือ EEC Project List ของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งบรรยากาศของการมายื่นข้อเสนอรายละเอียดทางเทคนิคและเอกสารรายละเอียดด้านราคาต่อคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ครั้งนี้ เป็นไปอย่างเรียบร้อยเป็นไปตามขั้นตอน สำหรับในขั้นตอนต่อไปคณะกรรมการฯจะพิจารณาตรวจสอบเอกสารของผู้ยื่นข้อเสนอรายละเอียดทางเทคนิคทั้งหมดต่อไป” นางสาวสมจิณณ์กล่าว