สบยช. แนะผู้ปกครอง สังเกตบุตรหลานใช้สื่อ Social Media หรือสื่อสังคมออนไลน์ ระวังตกเป็นเหยื่อของผู้ค้ายาเสพติด

สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ แนะผู้ปกครองหมั่นสังเกตพฤติกรรมบุตรหลานใช้ Social Media หรือสื่อสังคมออนไลน์ อาจถูกชักจูงและชี้นำไปในทางผิด กลายเป็นเหยื่อของผู้ค้ายาเสพติด ด้วยความอยากรู้อยากลอง

นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในปัจจุบัน Social Media หรือสื่อสังคมออนไลน์ เข้ามามีบทบาทอย่างมากในสังคม สามารถเข้าถึงประชาชนได้ทุกเพศ ทุกวัย เด็ก วัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา สามารถค้นคว้าหาความรู้ต่าง ๆ ความสนุกสนาน ความบันเทิง ได้จากสื่อ Social Media หรือสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งในภาวะสังคมปัจจุบัน ลูกหลานต้องเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้านมีการใช้ Social Media หรือสื่อสังคมออนไลน์ เป็นเวลานาน ประกอบกับ พ่อ แม่ ผู้ปกครองต้องไปทำงานนอกบ้านเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของครอบครัว ทำให้ไม่มีเวลาดูแลบุตรเท่าที่ควร อาจเป็นสาเหตุให้บุตรหลานถูกชักจูงและชี้นำไปในทางผิดได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องยาเสพติด หรือการใช้ยารักษาโรคไปในทางที่ผิด ประกอบกับผู้ค้ายาเสพติดในปัจจุบันมักจะหาช่องทางการลักลอบจำหน่ายโดยใช้ Social Mediaหรือสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งตรวจสอบได้ยาก ร่วมกับการโฆษณาชวนเชื่อ อวดอ้างสรรพคุณต่าง ๆ ทำให้เด็กและเยาวชนตกเป็นเหยื่อของความอยากรู้อยากลอง และกลายเป็นเหยื่อของผู้ค้ายาเสพติด

นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาการลักลอบจำหน่ายยาและสารเสพติดผ่านช่องทาง Social Media หรือ
สื่อสังคมออนไลน์ เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะสามารถเข้าถึงเด็กและวัยรุ่นได้ง่าย แนะผู้ปกครองในยุคปัจจุบัน ต้องพยายามติดตามข่าวสารจากสื่อ Social Media หรือสื่อสังคมออนไลน์ พยายามปรับตัวให้เหมือนเป็นเพื่อนกับบุตรหลานหาเวลาว่างทำกิจกรรมร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ ร่วมกับการสังเกตุพฤติกรรมของบุตรหลาน หากพบมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การใช้เงินในการสั่งของทางออนไลน์มากผิดปกติ หรือพบสิ่งของต้องสงสัย ต้องรีบเข้าไปพูดคุย ซักถามด้วยเหตุผล และยอมรับฟังอย่างตั้งใจ ด้วยความรัก ความเมตตา ทั้งนี้เมื่อรู้ว่าลูกเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้ปกครองต้องตั้งสติ ใช้เหตุผล ไม่ตำหนิ ดุด่า หรือลงโทษอย่างรุนแรง แสดงความรัก ความห่วงใย บอกกล่าวในเรื่องโทษพิษภัยของยาเสพติด ที่มีต่อสุขภาพร่างกาย จิตใจ การเรียน รวมถึงความผิดทางกฎหมาย และรีบพาไปพบแพทย์เพื่อเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา โดยสามารถขอรับคำปรึกษาเรื่องยาและสารเสพติดได้ที่ สายด่วนยาเสพติด 1165 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th หรือเข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดได้ที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา และปัตตานี
*************************************************