“เอนก” ชี้การศึกษาไทยต้องเชื่อมโยงมรดกทางวัฒนธรรม ใช้ศาสตร์และศิลป์สร้างโอกาสทองให้ประเทศ มอบ สอวช. เป็นโต้โผจัดระดมความคิดกับหน่วยบริหารและจัดการทุน หาคำตอบสู่การพัฒนาไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้ว

วันที่ 25 พ.ย.64 ศ.(พิเศษ) ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอํานวยการสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ครั้งที่ 8/2564 ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และผ่านระบบออนไลน์

ทั้งนี้ ศ.(พิเศษ) ดร. เอนก ได้มอบนโยบายในที่ประชุมว่า จากการที่ประเทศไทยถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีมรดกทางวัฒนธรรม หรือ Cultural Heritage อยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก อีกทั้งกรุงเทพฯ และภูเก็ต ยังถูกจัดอันดับเป็นเมืองที่เหมาะกับการทำงานและการพักผ่อนติดอันดับโลกอีก เราจึงควรใช้โอกาสนี้ในการจัดการศึกษาในแนวทางใหม่ ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เป็นรากฐานดีเอ็นเอที่ประเทศไทยมีพื้นฐานที่ดีมาตั้งแต่แรก จากการลงทุนของบรรพบุรุษ เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าไทยเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญในเรื่องมรดกทางวัฒนธรรม ที่จะสร้างโอกาสให้ประเทศประสบความสำเร็จได้ ที่ผ่านมา เราลงทุนเพื่อพัฒนาการศึกษาในสายวิทยาศาสตร์มาโดยตลอด ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ แต่ในสายมรดกทางวัฒนธรรม เราแทบไม่ได้ลงทุนเลย เมื่อนำมาประกอบกันจะช่วยพัฒนาภาพรวมด้านการศึกษาของไทยได้

รมว.อว.กล่าวต่อว่า เราต้องใช้ศาสตร์และศิลป์เหล่านี้ให้เป็นโอกาสทองในการขับเคลื่อนประเทศให้ไปต่อได้ หรืออย่างเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เรามุ่งเน้นไปที่การทำการเกษตร ควรเน้นไปที่เรื่องเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ด้วย เพื่อให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไป กินอิ่มนอนอุ่น มีรายได้เชิงสร้างสรรค์มากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องฝากให้ สอวช. ไปดำเนินการต่อ

นอกจากนี้ ศ.(พิเศษ) ดร. เอนก ยังให้นโยบายเพิ่มเติมต่อการดำเนินงานของหน่วยบริหารและจัดการทุน ได้แก่ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.), หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.), และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ว่า งานที่เราทำต้องสะท้อนให้รัฐบาลรู้ถึงสถานะขีดความสามารถของไทยในเวลานี้ และรัฐบาลควรเข้ามาสนับสนุนอย่างไร เพื่อเสริมได้ถูกจุดและสร้างให้ขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น อย่าง บพค. ต้องบอกได้ว่าการพัฒนากำลังคนของไทยก้าวหน้าไปถึงขั้นไหน เทียบกับประเทศอื่นแล้วเป็นอย่างไร หรือมีศาสตร์อะไรบ้างที่เราควรสร้างขึ้นมา เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด

ส่วน บพท. ต้องดูว่าการบริหารโดยใช้ขอบเขตในระดับพื้นที่มีประโยชน์อย่างไร อาจถึงขั้นที่คนในพื้นที่ต้องหันมาทำเรื่องในทางวิชาการให้มากขึ้น แต่ละจังหวัดอาจต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์เข้าไปกับสิ่งที่เป็นจุดเด่นของพื้นที่นั้นๆ จากที่เคยอาศัยการทำข้อมูลจากส่วนกลาง เปลี่ยนเป็นการสร้างให้คนในแต่ละพื้นที่ก้าวไปเป็นนักพัฒนาหรือนักยุทธศาสตร์ให้มากขึ้น ด้าน บพข. ต้องทำให้เข้าใจว่า การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศคืออะไร และเราควรลงทุนในการศึกษาด้านใดเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ นี่เป็นโจทย์สำคัญที่หน่วยบริหารและจัดการทุนต้องไปหาคำตอบ ให้ช่วยกันระดมความคิด โดยมี สอวช. เป็นเจ้าภาพ เป็นโต้โผสำคัญในการจัดการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด เพื่อให้เกิดเป็น “ทฤษฎี” ที่จะพัฒนาประเทศด้วยวิจัยและนวัตกรรม เชื่อมโยงไปถึงการเดินหน้าทางด้านเศรษฐกิจของประเทศได้ต่อไปผ่านการขับเคลื่อนทั้งวิทยาศาตร์และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รมว.อว. กล่าว

—————————————-