เผยโฉมนวัตกรอาหารรุ่นใหม่ คว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดนวัตกรรมอาหาร ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ “โลกอนาคต” ในโครงการ Food Innopolis Innovation Contest 2021

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยเมืองนวัตกรรมอาหาร ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) และฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ ร่วมกับ บริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ จำกัด ในเครือบุญรอด บริวเวอรี่ พร้อมด้วยผู้สนับสนุนหลักโดย บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด และ บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ประกาศผลการประกวดนวัตกรรมอาหารในโครงการ “Food Innopolis Innovation Contest 2021” เวทีออนไลน์ที่ให้เหล่านวัตกรอาหาร ที่มีใจรักในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และไอเดียนวัตกรรมอาหารล้ำยุค ทั้ง 3 รุ่น ได้แก่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (Fly Weight) ระดับนักศึกษา (Light Weight) และระดับบุคคลทั่วไป (Heavy Weight) จำนวน 42 ทีม เข้าร่วมประชันไอเดียชิงเงินรางวัลมูลค่ารวมกว่า 1 ล้านบาท และสร้างโอกาสในการต่อยอดสร้างธุรกิจด้านนวัตกรรมอาหารร่วมกับบริษัทชั้นนำของประเทศ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19-21 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ในรูปแบบออนไลน์บนโลกเสมือนจริงแบบ Metaverse เทคโนโลยีดิจิทัลที่ผสานโลกเสมือนจริงคู่ขนานไปกับโลกจริง ผ่านทางเว็บไซต์ www.fiinnovationcontest.com

ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการ สวทช. และผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) กล่าวว่า กิจกรรมในปีนี้มีความพิเศษกว่าทุกปี เนื่องจากมีการเปิดรับผลงานเพิ่มในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (Fly Weight) ภายใต้หัวข้อการแข่งขัน 2 หัวข้อ ได้แก่ Food Heritage Innovation หรือนวัตกรรมจากมรดกภูมิปัญญาอาหาร และ Future Lifestyle Food Innovation หรือนวัตกรรมอาหารสำหรับการใช้ชีวิตแห่งอนาคต ซึ่งตลอดระยะการดำเนินงานที่ผ่านมาโครงการได้ทำการบ่มเพาะผู้เข้าร่วมการแข่งขัน ผ่านการอบรมและให้คำปรึกษาอย่างเข้มข้น ตั้งแต่การออกแบบแนวคิดนวัตกรรม การพัฒนาต้นแบบ การจัดทำโมเดลธุรกิจ ตลอดจนเทคนิคการนำเสนอผลงาน โดยมุ่งหวังกระตุ้นให้เยาวชนและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ สามารถนำความรู้ เครื่องมือการสร้างนวัตกรรมไปพัฒนาแนวคิดใหม่ ๆ และนำผลงานออกสู่เชิงพาณิชย์ได้จริง โดยผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายในทั้ง 3 รุ่นนี้ ผ่านการคัดสรรจากผู้ส่งผลงานเข้าประกวดทั้งหมดมากกว่า 200 ทีม จากทั่วประเทศ จนเหลือ 42 ทีมที่มีแนวคิดน่าสนใจและมีความเป็นไปได้ในทางการตลาด โดยผู้ชนะการประกวดในครั้งนี้จะแบ่งเป็นรุ่นนักเรียนจะได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่ ส่วนรุ่นนักศึกษาและบุคคลทั่วไป จะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 50,000 บาทพร้อมโล่เช่นกัน

นายปิติ ภิรมย์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฟู้ด แฟคเตอร์ จำกัด ในเครือบุญรอด บริวเวอรี่ เปิดเผยว่า สิ่งสำคัญที่เครือบุญรอดให้การสนับสนุนโครงการ Food Innopolis Innovation Contest เพราะเล็งเห็นว่าธุรกิจนวัตกรรมอาหารเป็นสิ่งที่สร้างศักยภาพให้กับประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ดังคำกล่าวที่ว่า อาหารไทยสามารถส่งออกได้ทั่วโลก หรือ ครัวไทย สู่ครัวโลก ที่มีการผลักดันเป็นนโยบายของภาครัฐ ทางบริษัทมองว่าสิ่งสำคัญที่สุดของนวัตกรรมด้านอาหาร หรือการนำศิลปะทางด้านอาหารไปสู่ระดับโลกได้ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่

1. ส่วนที่เป็นต้นน้ำหรือแหล่งการผลิต คือการทำอย่างไรให้สามารถผลิตได้ตลอดทั้งปี รวมถึงการทำให้ต้นทุนการผลิตอยู่ในการควบคุม และการสร้างสินค้าทดแทนหรือการมีแหล่งวัตถุดิบที่ดีขึ้น

2. ส่วนที่เป็นกลางน้ำ หรือ นวัตกรรมในการทำอาหาร หรือการออกสินค้าใหม่ ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ เนื่องจากการแข่งขันมีอยู่ทั่วโลก ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการนำเสนออย่างไรให้นวัตกรรมนั้นมีความน่าสนใจ และดึงดูดตลาดโลก

3. ส่วนที่เป็นปลายน้ำ เมื่อมีวัตถุดิบที่ดี มีนวัตกรรมที่ดีแล้ว จะขายสินค้าอย่างไร จะดึงจุดเด่นในการขายสินค้านั้นอย่างไร การจะสร้างอนาคตธุรกิจอาหารสู่ครัวโลก ต้องพัฒนาทั้ง 3 ส่วนนี้ รวมถึงมุมมองความคิดในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารทั้งภาครัฐและภาคเอกชนและผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดแผนการตลาดหรือแผนการนำเสนอสินค้าที่น่าสนใจและสมบูรณ์แบบมากที่สุด

สำหรับผลการแข่งขันหัวข้อ Food Heritage Innovation หรือนวัตกรรมจากมรดกภูมิปัญญาอาหาร ทีมที่ชนะเลิศรุ่นนักเรียน ได้แก่ “ทีมปลาร้าวิวัฒน์” จากโรงเรียนสุรวิวัฒน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กับผลงาน “ปลาร้าวิวัฒน์ น้ำปลาร้าทรงเครื่องเพื่อสุขภาพโซเดียมต่ำ” ที่ช่วยแก้ปัญหาเรื่องความสะอาด และปัญหาปริมาณโซเดียมสูงด้วยการปรุงรสจากผักไชยาที่เป็นผักพื้นบ้าน รวมถึงการปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์และตัวน้ำปลาร้าให้มีความข้นและความหนืดแบบพอดี ทีมชนะเลิศรุ่นนักศึกษา ได้แก่ “ทีม Rice gun muk” จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับผลงานชื่อ “มงคล” ผลิตภัณฑ์ไอศกรีมวีแกนรสข้าวแช่เพื่อสุขภาพ และผู้ชนะเลิศรุ่นบุคคลทั่วไป ได้แก่ “ทีมร้าแซ่บ” จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับผลงาน “ร้าแซ่บ ปลาร้าทอดสุญญากาศพร้อมทาน” ซึ่งช่วยแก้ปัญหาให้ผู้ที่ชอบทานปลาร้าทอดให้สามารถหาซื้อทานได้ง่ายขึ้น อีกทั้งช่วยแก้เรื่องกลิ่นรบกวนขณะปรุงสุกและกลิ่นหืนเมื่อเก็บไว้ รวมถึงปัญหาเรื่องของการพกพาอีกด้วย

สำหรับหัวข้อ Future Lifestyle Food Innovation หรือนวัตกรรมอาหารสำหรับการใช้ชีวิตแห่งอนาคต ผู้ชนะเลิศรุ่นนักเรียน ได้แก่ “ทีมน้องหนอนดุกดุ๋ยกระดึ๋บดุ๊กดิ๊ก” จากโรงเรียนกำเนิดวิทย์ กับผลงาน “DUKDIK สเปรดสุขภาพจากดักแด้ไหมปรุงรส” เป็นผลิตภัณฑ์ที่ให้โปรตีนสูง แต่มีปริมาณแคลอรี่และไขมันต่ำ ส่วนผู้ชนะเลิศรุ่นนักศึกษา ได้แก่ “ทีม 5 SHADES” จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับ “ผลิตภัณฑ์ VELOAF มีทโลฟวีแกน” ผลิตภัณฑ์เลียนแบบเนื้อสัตว์พร้อมทานอุดมไปด้วยคุณค่าทางสารอาหาร และผู้ชนะเลิศรุ่นบุคคลทั่วไป ได้แก่ “ทีม Trumpkin” จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับผลงาน “Trumpkin Vegan Cheese” หรือ “Vegan mozzarella cheese” สัญชาติไทยจากเมล็ดฟักทองที่มีไฟเบอร์สูง เป็นผลิตภัณฑ์ Dairy free ที่ไม่มีส่วนผสมของนม ปราศจากคอเลสเตอรอลและสารก่อภูมิแพ้ 8 ชนิด ที่ตอบโจทย์กลุ่มคนทานอาหาร Vegan ที่อาจขาดสารอาหารที่จำเป็น รวมถึงแก้ปัญหา Vegan cheese ทางเลือก ที่มีอยู่ในตลาดทั่วไปที่มักทำจากถั่วชนิดต่างๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้

โครงการ Food Innopolis Innovation Contest นับเป็นหนึ่งโครงการที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนวงการอาหารของไทยให้ก้าวหน้า อีกทั้งช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการด้านอาหารให้มีความรู้ความเข้าใจในด้านกลยุทธ์และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ตลาดผู้บริโภค จนสามารถแข่งขันในตลาดไทยและตลาดโลกได้ นอกจากนี้ ยังเป็นพื้นที่ที่จะช่วยเชื่อมโยงทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงผู้ประกอบการทางด้านอาหารทั้งรุ่นเล็กและรุ่นใหญ่เข้าไว้ด้วยกัน เป็นพื้นที่ที่รวมแนวคิด และความร่วมมือจากทุกภาคส่วนสู่การพัฒนาและพลักดันวงการอาหารไทยให้ก้าวเติบโตต่อไปได้ในอนาคต

/////////////////////