“หมอประเวศ’ ปาฐกถาพิเศษการรวมกลุ่มของ ‘พลเมืองตื่นรู้’ สร้างพลังประเทศ – ฟันฝ่าได้ทุกวิกฤต

“นพ.ประเวศ’ ชี้ ในอดีต ‘กฎระเบียบ-กฎหมาย’ เบียดบังเมล็ดพันธุ์แห่งความดี แต่โควิด-19 ทำให้เกิดการระเบิดของจิตสำนึก ทำให้คนคิดนอกกรอบเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ขณะที่องค์การด้านสังคม-สุขภาพ เห็นพ้อง “พลังพลเมืองตื่นรู้” ช่วยประคับประคองประเทศไทยก้าวผ่านสถานการณ์เลวร้ายไปได้

เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2564 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) และภาคีเครือข่าย จัดเวที “ดอก ผล พลเมืองตื่นรู้สู้ภัยโควิด-19” ซึ่งเป็นการถอดบทเรียนการทำงาน การป้องกันควบคุมโรค รวมถึงนวัตกรรมทางสังคมที่เกิดขึ้นในสถานการณ์โควิด-19 ของประเทศไทย รวบรวมคุณค่าการทำงานที่เกิดจากเครือข่ายภาคประชาชน บุคลากรด่านหน้า ท้องถิ่น อาสาสมัครเฉพาะกิจ ผู้นำชุมชน และนักสื่อสารชุมชน

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “พลังพลเมืองหัวใจเพื่อเพื่อนมนุษย์ กู้วิกฤตโควิด-19” ตอนหนึ่งว่า ไม่ว่าเราจะเผชิญกับเรื่องเลวร้ายเพียงใด สิ่งสำคัญคือเราจะต้องหากำไรจากสิ่งนั้น และกำไรสูงสุดก็คือการเติบโตทางปัญญา ที่ทำให้เราฉลาดขึ้น เช่นเดียวกับโควิด-19 ที่ไม่ว่าจะเผชิญความเลวร้ายเพียงใด แต่สิ่งสำคัญที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นกับสังคมไทยคือการกระตุ้นจิตสำนึกที่ซ่อนอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน ออกมาเป็นพลังของพลเมืองตื่นรู้ ซึ่งเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาไม่เพียงเฉพาะโควิด แต่ยังรวมไปถึงวิกฤตอื่นๆ ของประเทศ

“ไทยเรายังติดสภาวะวิกฤตที่เรื้อรังและยังก้าวข้ามไม่ได้อีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ หรือปัญหาศีลธรรม การคอรัปชั่นต่างๆ รวมถึงสังคมที่เปลี่ยนแปลงและมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น การจะใช้เครื่องมือเก่าๆ อย่างการใช้อำนาจ ใช้เงิน หรือใช้ความรู้ที่สำเร็จรูปตายตัวแบบเดิมจะไม่ได้ผล หากแต่เราจะต้องใช้โอกาสจากวิกฤตโควิดนี้ ขับเคลื่อนพลังของพลเมืองในการที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาทั้งหมดนี้” นพ.ประเวศ กล่าว

นพ.ประเวศ กล่าวอีกว่า พลังหนึ่งที่ถูกกระตุ้นออกมาให้เราได้เห็นในช่วงโควิด คือเมล็ดพันธุ์ความดีที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน เมื่อเห็นใครมีความทุกข์ยากก็เกิดความเห็นใจและอยากเข้าไปช่วยเหลือ แต่ที่ผ่านมาสิ่งเหล่านี้อาจถูกบดบังเอาไว้ด้วยเรื่องของกฎหมาย กฎระเบียบ ระบบราชการ หรือมายาคติต่างๆ ทว่าโควิดได้ทำให้เกิดการระเบิดของจิตสำนึก เมื่อเห็นเพื่อนมนุษย์ทนทุกข์ต่อไปไม่ไหว และกฎระเบียบไม่สำคัญเท่าชีวิต เราจึงได้เห็นผู้คนออกนอกกรอบ ปรับตัวสารพัดอย่างเพื่อให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

“สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง ที่เราจะต้องมองให้เห็นและเอามาขยายผล ด้วยพลังของพลเมืองที่ตื่นรู้แฝงด้วยกัมมันตะ หรือ Active Citizen ที่จะเป็นคำตอบของการก้าวข้ามวิกฤตทุกอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการรวมกลุ่ม ใช้ปัญญามาสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน ก็จะยิ่งเป็นพลังมหาศาลที่จะฝ่าความยากทุกชนิดให้สำเร็จ ดังนั้นจึงขอว่าอย่าได้ท้อถอย ถึงแม้จะมีวิกฤตอย่างไรก็อย่าหมดหวัง เพราะเรามาช่วยกันออกแบบและสร้างความเปลี่ยนแปลงร่วมกันได้” นพ.ประเวศ กล่าว

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ไม่ว่าประเทศเราจะเผชิญวิกฤตอะไร ควรจะต้องมองปัญหาด้วยความหวังและอดทนที่จะเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อผลักดันให้เกิดการเดินไปข้างหน้า และสิ่งสำคัญคือผู้ที่มีอำนาจ หรือผู้ที่มีบทบาทในการตัดสินใจ ก็จะต้องไม่คิดล้มกระดานกลางคัน แต่ต้องปล่อยกลไกความร่วมมือต่างๆ เดินไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง

“เราสร้างการเรียนรู้ตั้งแต่ช่วงการระบาดระลอกแรก ที่เปลี่ยนความตื่นตระหนกของประชาชนให้เป็นความตื่นรู้ เท่าทันกับข้อมูลข่าวสาร มาจนระลอกสองที่เกิดการแบ่งแยกและตีตรากลุ่มแรงงาน ก็เข้ามาประคองไว้ให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อรับมือ กระทั่งมาระลอกที่ 3-4 ที่มาตรการภาครัฐเริ่มจัดการไม่ไหว ก็ต้องเกิดมาตรการย่อยของภาคประชาชนที่เข้ามามีบทบาทการจัดการดูแลต่างๆ ในชุมชน ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นในชุมชนคลองเตยและอีกหลายเขต ที่เรานำไปเป็นโมเดลและขยายผลต่อให้เป็นระบบที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ” นพ.ประทีป ระบุ

นพ.ประทีป กล่าวอีกว่า ดังนั้นแม้ระบบสุขภาพของไทยจะค่อนข้างมีความเข้มแข็งและเป็นที่ยอมรับ แต่เมื่อเกิดวิกฤตที่ซับซ้อนก็ทำให้เราได้เห็นจุดอ่อน โดยเฉพาะปัญหาในเขตเมือง รวมถึงกลุ่มเปราะบางต่างๆ ที่การจัดการจะต้องบูรณาการกันมากขึ้น ขณะที่อีกส่วนหนึ่งคือการใช้ต้นทุนทางทรัพยากรที่เรามี ทั้งพลังของเครือข่ายจิตอาสา หรือกองทุนย่อยต่างๆ ในพื้นที่ ซึ่งสิ่งสำคัญหลังจากนี้คือเราจะใช้ประสบการณ์และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการรับมือปัญหาเฉพาะกิจในครั้งนี้ แปลงไปสู่การทำงานอย่างต่อเนื่องในภาวะปกติได้อย่างไร

นายปฏิภาณ จุมผา รักษาการผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กล่าวว่า ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตการณ์หรือภัยพิบัติครั้งใด เรามักจะได้เห็นภาพความงดงามของขบวนการภาคประชาชนที่ลุกขึ้นมารวมตัว ช่วยเหลือกันในการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองได้ อย่างไรก็ตามการที่จะทำให้ภาพเหล่านี้ยั่งยืน จำเป็นจะต้องปรับอย่างน้อย 5 เรื่อง

ทั้งนี้ ประกอบด้วย

1. สังคมต้องปรับวิธีคิดในการพัฒนา โดยเชื่อมั่นในคนเล็กคนน้อยว่าหากเขาได้รับโอกาส ก็จะสามารถลุกขึ้นมาแก้ไขและจัดการปัญหาด้วยตนเองได้

2. การพัฒนาหรือแก้ปัญหาในทุกระดับ ต้องมีเจ้าของเรื่อง หรือเจ้าของปัญหา เข้ามาอยู่ในกลไกการขับเคลื่อนและกำหนดทิศทางพัฒนา เพราะจะเป็นผู้ที่รู้ปัญหาดีที่สุด

3. นโยบายและแผนของภาคประชาชนที่มี จะถูกหนุนเข้าไปบรรจุเป็นนโยบายท้องถิ่น จังหวัด หรือระดับชาติได้อย่างไร

4. ระบบวิธีงบประมาณ จะต้องเปิดทางให้สามารถส่งไปถึงภาคประชาชนที่มาร่วมมือกันทำงานเป็นพลังในแนวราบได้

5. ระบบกฎกติกาข้อบังคับของภาครัฐ จะจัดลำดับความสำคัญให้กับการทำงานที่เอาประชาชนหรือปัญหาเป็นตัวตั้งได้อย่างไร

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า แม้หน่วยงานราชการอาจมองว่าระเบียบต่างๆ เป็นอุปสรรคในการทำงาน หากแต่ในฐานะการทำงานของ สปสช. จะมองในมุมของการนำกฎกติกา กลไกที่มีภายในองค์กร ซึ่งก็คือกลไกการเงินการคลัง มาสนับสนุนให้เกิดการทำงานหรือบริการที่ช่วยเหลือประชาชนได้อย่างไร โดยเฉพาะในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่จะต้องมีการแก้ไขปัญหาที่รวดเร็ว
“สิทธิประโยชน์หลายตัวเราใช้กลไก Green Channel ที่ไม่ต้องไปรอประเมิน แต่ให้บอร์ดอนุมัติเลยเพื่อความรวดเร็ว และช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที เช่น กฎกติการการจ่ายชดเชย Home-Community Isolation ที่เราได้พยายามปรับการจ่ายให้ล่วงหน้าส่วนหนึ่ง เพื่อเอื้อให้เกิดการจัดบริการได้ เราจะไม่ได้ดูแค่ความสำเร็จเฉพาะกับหน่วยใดหน่วยหนึ่ง แต่เราจะดูกลไกทั้งระบบให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้ทั้งเครือข่ายขับเคลื่อนไปได้” นพ.จเด็จ กล่าว

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า แต่ละมหาวิกฤตที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติใหญ่ น้ำท่วม หรือการระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องที่ใหญ่เกินกว่าโครงสร้างของระบบปกติจะรองรับได้ ลำพังเฉพาะหน่วยงานรัฐไม่มีทางพร้อมที่จะรับมือกับความเสียหายในระดับนี้ได้ ฉะนั้นสิ่งสำคัญจึงเป็นโครงสร้างของระบบสังคมโดยรวมที่จะเข้าไปช่วยรองรับ ซึ่งเมื่อถึงคราวจำเป็นที่จะต้องใช้พลังเหล่านั้นแล้ว มีทางที่เราจะใช้เวลาอันสั้นเพื่อดึงพลังเหล่านั้นออกมาได้หรือไม่

ดร.สุปรีดา กล่าวว่า สำหรับระบบสาธารณสุขไทย เรามีโครงสร้างอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ถูกสร้างขึ้นและผ่านการทดสอบมายาวนานกว่า 40 ปี ที่ช่วยเข้ามาเป็นฐานการรับมือกับการระบาดในสองระลอกแรกได้อย่างมั่นคง แต่สุดท้ายแล้วในระลอกถัดมาก็ทำให้เราได้เห็นจุดอ่อนที่มาเกิดขึ้นกับโครงสร้างในระบบปฐมภูมิของกรุงเทพฯ เอง จึงหวังว่าในหลายๆ ปัญหาที่โควิดเข้ามาส่องแสงให้เราเห็นแล้ว จะถูกนำมาใช้เป็นโอกาสในการปรับปรุง เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ต่อไปในอนาคต

ด้าน พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ และเลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า หนึ่งในความร่วมมือระหว่างแพทย์และภาคประชาชนในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา คือการเชื่อมเครือข่ายมูลนิธิ รวมถึงจิตอาสาต่างๆ ผ่านแพลทฟอร์ม “จิตอาสา.แคร์” ที่เป็นตัวช่วยในการร่วมกันวางแผนจัดการบุคลากรและทรัพยากร เป็นการรวมพลังจากหลายมิติที่เข้ามาช่วยกันเติมเต็ม และผลัดกันวิ่งในแต่ละระยะ โดยช่วยเหลือดูแลกันตั้งแต่ในชุมชน จนส่งต่อมาถึงบุคลากรการแพทย์

“มีน้อยประเทศในโลกที่จะเกิดภาพแบบนี้ขึ้นได้ ที่แม้จะมีช่องว่างในกลไกต่างๆ มากมาย แต่ก็มีเครือข่ายผู้ที่มีจิตอาสามาช่วยกันอุดช่องว่างเหล่านี้ ในขณะที่วันนี้เราอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ระบบการแพทย์ การรักษาต่างๆ ก็เข้าถึงประชาชนได้เร็วขึ้น แพลทฟอร์มที่เกิดขึ้นในช่วงโควิดนี้จึงนับเป็นบทเรียนที่ดี ที่จะทำให้ต่อไปเราบอกได้ว่าคนที่ต้องการความช่วยเหลืออยู่จุดไหน และเราเข้าไปเติมได้ตรงจุด ก็จะเป็นการใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด” พล.อ.ต.นพ.อิทธพร กล่าว

อนึ่ง เวที “ดอก ผล พลเมืองตื่นรู้สู้ภัยโควิด-19” เป็นหนึ่งในกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือ Side Event ของงาน สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 พ.ศ.2564 ที่จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 15-16 ธ.ค. 2564 ในหัวข้อ “พลังพลเมืองตื่นรู้ สู้วิกฤตสุขภาพ” อันเป็นวาระสำคัญประจำปีของกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ที่จะนำไปสู่การสร้างสุขภาวะดีแก่สังคมและคนไทยทุกคน

////////////////////////////////////