เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 ที่ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการประชุมคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (กพฉ.) โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินเป็นประธาน ซึ่งมีวาระสำคัญเพื่อพิจารณาเรื่องเสนอจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ คือ ร่างประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่อง มาตรฐานการปฏิบัติการฉุกเฉินในการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานนอกสถานพยาบาล พ.ศ. …. ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างประกาศฯ ดังกล่าว
เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ หรือ AED (Automated External Defibrillator) เป็นอุปกรณ์ปฐมพยาบาลสำคัญที่ใช้ในการกู้ฟื้นคืนชีพซึ่งประชาชนสามารถใช้ได้เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วย ทั้งนี้มีผลการศึกษายืนยันว่าการใช้เครื่อง AED เพื่อฟื้นคืนคลื่นหัวใจนั้น จะได้ผลดีมากหากผู้ป่วยได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกต้องและรวดเร็ว จึงมีความจำเป็นที่ต้องมีเครื่อง AED เตรียมพร้อมไว้ให้หยิบใช้ได้ในสถานที่ต่างๆ อย่างเหมาะสม
ตามที่กระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศกฎกระทรวง ฉบับที่ 69 พ.ศ. 2564 ออกความตาม พรบ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ข้อ 29/2 กำหนดให้อาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษที่เป็นอาคารสาธารณะ ต้องจัดให้มีพื้นที่หรือตำแหน่งเพื่อติดตั้งเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ หรือ AED (Automated External Defibrillator) ส่วนรายละเอียดของเครื่อง AED รวมถึงจำนวน ตำแหน่ง และระบบการติดตั้ง ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินประกาศกำหนด กฎกระทรวงนี้ ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 4 มิถุนายน 2564 ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (วันที่ 1 ธันวาคม 2564)
สพฉ. ได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อยกร่างประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่อง มาตรฐานการปฏิบัติการฉุกเฉินในการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานนอกสถานพยาบาล พ.ศ. ….. และมีการเผยแพร่เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และมีผู้เห็นด้วยร้อยละ 91.83 ก่อนที่จะนำเสนอเข้าที่ประชุม กพฉ. และที่ประชุมมีมติเห็นชอบในวันนี้
เลขาธิการสพฉ. ได้เน้นย้ำถึงประโยชน์ของการที่ทุกคนจำเป็นต้องเรียนรู้และฝึกให้สามารถทำการช่วยฟื้นคืนชีพและใช้เครื่อง AED ได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ทั้งนี้เพื่อเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันในที่สาธารณะนอกสถานพยาบาล ซึ่งสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติและองค์กรภาคืเครือข่ายได้ดำเนินการฝึกอบรมการช่วยฟื้นคืนชีพและใช้เครื่อง AED ให้กับประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง และจะมุ่งมั่นดำเนินการต่อไป เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายในการเสริมสร้างความปลอดภัย และการบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่ประชาชนเข้าถึงได้ อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และมีมาตรฐาน ต่อไป
+++++++++++++++++++++