กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิฯ ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดแนวทางการจัดตั้งกลไกตามกรอบพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน

วันพฤหัสบดีที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 ณ ห้องเบซิล ชั้น 3 โรงแรมเบสท์เวสเทิร์นพลัสแวนด้าแกรนด์ กรุงเทพฯ นางสาวเอมอร เสียงใหญ่ รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดแนวทางการจัดตั้งกลไกตามกรอบพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์รณกรณ์ บุญมี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ นายสันติ ลาตีฟี รักษาการผู้อำนวยการกลุ่มงานพันธกรณีและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ พร้อมร่วมระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางในการจัดตั้งกลไกป้องกันการทรมานระดับชาติ (National Preventive Mechanism : NPM) ตามกรอบพิธีสารฯ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่มีภารกิจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับพิธีสารฯ เข้าร่วม

นางสาวเอมอร เสียงใหญ่ รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า สำหรับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ เป็นหนึ่งในสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ภายใต้ความรับผิดชอบ ของกระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2550 และอนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้กับประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 โดยมีสาระสำคัญ คือ การกำหนดให้การกระทำทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล ข้อสนเทศ หรือคำรับสารภาพ เป็นความผิดเฉพาะตามกฎหมายอาญา ซึ่งมีบทลงโทษตามกฎหมาย ปัจจุบันกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ พยายามผลักดันปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ จนเกิดความก้าวหน้าหลายประการ ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกลุ่มเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ฯลฯ ซึ่งในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าหน่วยงานต่างๆ ได้มีความตระหนักและเข้าใจอนุสัญญาฯ เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ และมีการปฏิบัติงานโดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนมากขึ้น

ทั้งนี้ ในส่วนของพิธีสารเลือกรับตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ นั้น เป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ที่มุ่งเติมเต็มอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ โดยพิธีสารฯ ดังกล่าว ได้รับการรับรองโดยข้อมติสมัชชาสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2545 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2549 ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ การป้องกันการทรมานฯ ในสถานที่กักกัน/คุมขัง/การควบคุมตัวในทุกรูปแบบ ซึ่งรวมถึงเรือนจำ สถานกักกัน โรงพยาบาล สถานสงเคราะห์ สถาบันจิตเวช ฯลฯ กล่าวคือ ทุกแห่งที่มีการรวมคนจำนวนมากไว้ โดยมาตรการป้องกันการทรมานฯ คือการเปิดโอกาสให้กลไกทั้งในระดับระหว่างประเทศและระดับประเทศตรวจเยี่ยมสถานที่กักกัน/คุมขัง/ควบคุมตัวได้อย่างสม่ำเสมอ นอกจากนั้น พิธีสารดังกล่าวยังกำหนดให้รัฐภาคีจัดตั้งกลไกระดับชาติ เพื่อป้องกันการทรมานฯ เพื่อทำหน้าที่ตรวจเยี่ยมดังกล่าวด้วย และสำหรับสถานะของประเทศไทยต่อพิธีสารฯ นั้น กระทรวงยุติธรรมได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาเข้าเป็นภาคีพิธีสารฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญและผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสิ้น 34 คน ซึ่งที่ประชุมมีมติร่วมกันว่าเห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีพิธีสารฯ แต่เห็นควรใช้เวลาในการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการเข้าเป็นภาคีพิธีสารฯ ดังกล่าว

โดยในวันนี้ กรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ จึงได้จัดประชุมขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพิธีสารฯให้กับหน่วยงานที่มีภารกิจหน้าที่เกี่ยวข้องกับพิธีสาร ฯรวมถึงเพื่อพิจารณาแนวทางการจัดตั้งกลไกป้องกันการทรมานระดับชาติ พร้อมทั้งกำหนดขอบเขตและแนวทางในการดำเนินงานของกลไกดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อเตรียมการรองรับการเข้าเป็นภาคีพิธีสารฯ ตามที่ไทยได้ให้คำมั่นไว้ในการรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามกลไก UPR ต่อไป.

***********************************************