“เอนก” โชว์วิสัยทัศน์ วางเป้าหมายรับนโยบายไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้วในปี 2580 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชี้ประเทศต้องเดินด้วย 2 ขา ทั้งวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมควบคู่กับเศรษฐกิจสร้างสรรค์

“เอนก” โชว์วิสัยทัศน์ วางเป้าหมายรับนโยบายไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้วในปี 2580 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชี้ประเทศต้องเดินด้วย 2 ขา ทั้งวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมควบคู่กับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ย้ำต้องไม่ทิ้งอดีต เพื่อติดปีกสู่อนาคตที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

วันที่ 22 พ.ย. ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “COVID-19 พลิกวิกฤติเป็นโอกาส ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” ใน“งานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2564” ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิร์ด กรุงเทพฯ ว่า นโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความมุ่งมั่นที่ต้องทำให้ไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในปี 2580 หรืออีก 16 ปีข้างหน้า นี่ถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยผูกมัดตัวเองด้วยนโยบายข้างต้น เป็นการทำแบบมีคำมั่นสัญญา เพื่อให้คนรุ่นหลังมีคุณภาพชีวิตที่ดี นำประเทศไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง เราไม่สามารถเป็นประเทศที่ที่พึ่งพิงแต่แรงงานราคาถูก ทรัพยากรธรรมชาติ หรือพืชผลทางการเกษตรอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะเกิดประโยชน์และทำให้สินค้าและบริการมีมูลค่าสูงขึ้นเป็นร้อยเป็นพันเท่า โดยตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด-19 ทำให้เห็นว่างานวิจัยสามารถตอบโจทย์ประเทศไทยได้เป็นอย่างดี เห็นช่องทางการทำธุรกิจแบบประเทศที่พัฒนาแล้ว บุคลากรนักวิจัยเกิดการตื่นตัวในการพัฒนาประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนานวัตกรรมเพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดโควิด-19 อาทิ วัคซีนที่สัญชาติไทยที่กำลังจะสำเร็จในอนาคตอันใกล้นี้ ห้อง ICU ความดันลบ หน้ากากความดันบวก ชุด PPE เป็นต้น ซึ่งผลงานของนักวิจัยไทยสามารถผลิตในราคาที่ต่ำกว่า 1 ใน 5 หรือ 1 ใน 10 ของราคาขายในตลาดโลก เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า สามารถพัฒนาเป็นธุรกิจสร้างผลิตผล และการบริการที่สำคัญต่อไปได้

รมว.อว. กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ การพัฒนาประเทศ ต้องทำแบบเดิน 2 ขา คือ การทำวิจัยและนวัตกรรม ควบคู่กับการทำเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ที่มีมูลค่าสูง เช่น การท่องเที่ยวที่สะท้อนประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยต้องทำงานวิจัย นวัตกรรม และถอดบทเรียนอย่างจริงจัง มีความเชื่อและความหวังในการมีอนาคตที่ดี ขณะเดียวกันต้องไม่ละเลยการศึกษาอดีต ประวัติศาสตร์ของประเทศ เพื่อผสานอดีตกับกระแสโลกาภวัฒน์ไปสู่อนาคต โดยประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ เข้าด้วยกัน

“วิกฤติโควิด-19 สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยมีความเข้มแข็ง ยืดหยุ่น งานวิจัยถูกนำมาใช้ประโยชน์และตอบโจทย์อย่างมาก เราจึงสามารถผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 ได้ สะท้อนถึงความกล่าวที่ว่า Necessity is the mother of innovation หรือ ความจำเป็นทำให้เกิดนวัตกรรม ดังนั้น เราต้องร่วมมือกันเพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี 2580 ให้ได้” รมว.อว. กล่าว

ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า งานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ จัดเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ผู้ทรงเป็น “พระบิดาแห่งการวิจัยไทย” และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 และพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ต่องานวิจัยไทย โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เพื่อเป็นเวทีระดับชาติ ที่นำเสนอผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีคุณภาพ เชื่อมโยงบูรณาการองค์ความรู้ไปสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ทั้งในมิติเชิงวิชาการ นโยบาย สังคม/ชุมชน และพาณิชย์/อุตสาหกรรม ภายใต้ความร่วมมืออันดีระหว่างหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ โดยปีนี้ จัดขึ้นเป็นปีที่ 16 ประกอบด้วย ภาคนิทรรศการ 560 ผลงาน จาก 163 หน่วยงาน และภาคการประชุม/สัมมนาใน 105 หัวข้อเรื่อง และกิจกรรมอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกจำนวนมาก โดยจัดระหว่างวันที่ 22-26 พฤศจิกายน 2564 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์