กรมควบคุมโรค เร่งปูพรมฉีดวัคซีนให้ครบ 100 ล้านโดสไม่เกิน 5 ธันวาคมนี้ เตรียมรับวัคซีนโมเดอร์นาอีก 1 ล้านโดสเข้าสุวรรณภูมิบ่าย 2 โมงวันนี้
วันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 ที่โรงแรมท็อปแลนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดพิษณุโลก นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดประเทศและการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ภาคเหนือ โดยมีนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมการประชุม มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งในรูปแบบ Onsite และ Online อาทิ นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด และกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้แทนภาคธุรกิจเอกชน
นายแพทย์โอภาส กล่าวในการบรรยายพิเศษ ผลการให้บริการวัคซีนโควิด 19 ตามเป้าหมายว่า จากตัวเลขที่เป็นทางการ รายงานว่า วันนี้เราฉีดวัคซีนไปทั้งหมด 88.9 ล้านโดส และกำลังใส่ข้อมูลเพิ่มเติมอีกล้านกว่าคน รวมฉีดวัคซีนแล้วกว่า 90 ล้านโดส ตามที่นายกรัฐมนตรีต้องการเร่งให้ฉีดวัคซีนครบ 100 ล้านโดส คาดว่าไม่เกินวันที่ 5 ธันวาคม โดยเชื่อว่าการเปิดประเทศอย่างปลอดภัย ไม่ควรมีผู้เสียชีวิต หรือเจ็บป่วยรุนแรงจนเกินขีดความสามารถของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนไม่ถึง 5 คน ที่เกิดจากวัคซีนจริงๆ แต่เป็น 5 ในร้อยล้านโดส ส่วนการเสียชีวิตอื่นๆ ไม่พบว่าเกี่ยวกับวัคซีน แต่เป็นสาเหตุที่เกิดร่วมกัน และย้ำอีกครั้งว่า อาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนไม่เท่ากับผลข้างเคียงหรือแพ้วัคซีน
“สำหรับประชาชนที่ยังไม่ได้เข้ารับวัคซีน กระทรวงสาธารณสุขจะเร่งปูพรมลงไปค้นหา โดยให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ไปเคาะประตูบ้าน รวมถึงคนที่ฉีดวัคซีนไปนานแล้ว ก็ต้องเข้ามารับบูสเตอร์ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่ประกาศฉีดบูสเตอร์ ตอนนี้น่าจะฉีดแล้ว 3-4 ล้านคน เพราะการระบาดเกิดจากภูมิที่ลดลงด้วยส่วนหนึ่ง ทางรัฐบาลได้เตรียมวัคซีนไว้ 120 ล้านโดส เข็ม 3 มีพอแน่นอน และเผื่อไปเข็ม 4 นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนโมเดอร์นาอีก 1 ล้านโดสจะเข้ามาที่สนามบินสุวรรณภูมิ เวลา 14.00 น. และจะมีการจัดสรรวัคซีนต่อไป ขอยืนยันว่า เรามีวัคซีนอย่างเพียงพอ” นายแพทย์โอภาส กล่าว
นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อไปว่า สิ่งหนึ่งที่สำคัญในการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 คือ กลไกการบริหารจัดการ
1.กลไกเชิงนโยบาย
2.ความรู้เชิงวิชาการ
3.ภาคปฏิบัติ
ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด สามารถออกนโยบายให้เหมาะสมกับบริบทในแต่ละพื้นที่ และอยากให้แต่ละจังหวัดมีแผนปฏิบัติการในการจัดการกับโรค โดยเฉพาะแผนเปิดประเทศ ทั้งด้านการป้องกันควบคุมโรค รวมถึงการผ่อนคลายกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้การดำเนินงานกิจการต่างๆ ดำเนินการต่อไปได้
************************************
ข้อมูลจาก : สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 2 จ.พิษณุโลก/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 22 พฤศจิกายน 2564