ธรรมนูญระบบสุขภาพฯ ฉบับ 3’ คืบหน้า! ‘ดร.สุวิทย์’ ยกร่างโครงสร้างทั้งฉบับเสร็จแล้ว

คณะกรรมการจัดทำ “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3” เดินหน้าวางโครงสร้างเนื้อหาร่างแรก เฟ้นหา “จุดคานงัด” เป็นแนวทางปฏิบัติในแต่ละหมวด สู่เป้าหมายสุขภาพที่พึงประสงค์ ครอบคลุมทั้งบริการสาธารณสุข-แพทย์แผนไทย-คุ้มครองผู้บริโภค-พัฒนากำลังคน-สุขภาพชุมชนเมือง

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดการประชุมคณะกรรมการจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2564 ซึ่งมี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ประธานกรรมการจัดทำธรรมนูญฯ เป็นประธาน โดยการประชุมเป็นไปเพื่อพิจารณาโครงสร้างภายในร่างธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ที่กำลังอยู่ในระหว่างกระบวนการจัดทำ เพื่อเตรียมที่จะให้เป็นกรอบและแนวทางในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการดำเนินงานด้านสุขภาพของประเทศในระยะ 5 ปีต่อไป

สำหรับโครงสร้างภายในร่างธรรมนูญฯ ขณะนี้ จะประกอบด้วยเนื้อหาในส่วนต่างๆ อันได้แก่ “แนวโน้มสถานการณ์ที่อาจมีผลต่อระบบสุขภาพ ในระยะ 5 ปี” เช่น โรคระบาด สังคมสูงวัย เทคโนโลยี การขยายตัวของเมือง การค้าระหว่างประเทศ สภาพภูมิอากาศ “นิยามศัพท์” เช่น ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ (health equity) ระบบสุขภาพที่ตอบสนอง (responsive health system) ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ (Social Determinants of Health: SDH) การพัฒนาศักยภาพมนุษย์ (human capability) เป็นต้น

“แนวคิดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนและธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3” เช่น ปรัชญาและแนวคิดหลักของระบบสุขภาพ คุณลักษณะที่พึงประสงค์และเป้าหมายของระบบสุขภาพในระยะ5 ปี หรือสถานะของธรรมนูญฯ และ “สาระรายหมวด” โดยในเบื้องต้นมีจำนวน 12 หมวด ได้แก่

1. การสร้างเสริมสุขภาพ

2. การป้องกันและควบคุมโรคและปัจจัยที่คุกคามสุขภาพ

3. การบริการสาธารณสุขและการควบคุมคุณภาพ

4. การส่งเสริม สนับสนุน การใช้และการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือกอื่นๆ

5. การคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ

6. การสร้าง และเผยแพร่องค์ความรู้ด้านสุขภาพ

7. การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ (การสื่อสารข้อมูลด้านสุขภาพ)

8. การผลิตและการพัฒนาบุคลากรด้านสาธารณสุข

9. การเงินการคลังด้านสุขภาพ

10. สุขภาพจิต

11. สุขภาพทางปัญญา

12. ระบบสุขภาพชุมชนเขตเมือง

ดร.สุวิทย์ เปิดเผยว่า โครงสร้างของร่างธรรมนูญฯ ในขณะนี้มีเนื้อหาที่ค่อนข้างครอบคลุมมาก โดยเฉพาะการใช้แนวคิดเรื่องของ “จุดคานงัด” เป็นแนวทางปฏิบัติที่บรรจุไว้ในแต่ละสาระหมวด ซึ่งจะทำให้ธรรมนูญฯ นี้สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง ไม่ได้มีแต่เนื้อหาที่เป็นหลักการเพียงอย่างเดียว ตัวอย่างเช่น สาระหมวดการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ มีเป้าหมายในเชิงหลักการให้ประชาชนหรือผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองสิทธิ ได้บริโภคผลิตภัณฑ์และบริการด้านสุขภาพที่มีมาตรฐาน เสมอภาค ไม่มีการเลือกปฏิบัติ และยึดหลักสุขภาพสำคัญกว่าการค้า โดยจุดคานงัดจะอยู่ที่ สภาองค์กรของผู้บริโภค ที่จะต้องได้รับการหนุนเสริมความเข้มแข็ง รวมถึงปรับปรุงกฎหมายให้เท่าทันกับปัญหาที่เปลี่ยนแปลงและโลกแห่งดิจิทัล เป็นต้น

ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่จะต้องเดินหน้าต่อหลังจากนี้ นอกจากการขัดเกลาเนื้อหาสาระในแต่ละหมวดให้ครบถ้วนแล้ว ยังจะต้องมีการเชื่อมเนื้อหาทั้ง 12 หมวดกลับมายึดโยงกันให้เห็นเป็นภาพใหญ่อีกครั้งเพื่อที่จะนำไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งในการเปลี่ยนแปลงนั้นจำเป็นจะต้องปรับหลายๆ อย่างไปพร้อมกัน ไม่เพียงเฉพาะตัวโครงสร้างหรือระบบเท่านั้น แต่ยังจะต้องปรับพฤติกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมายด์เซ็ทของผู้คน
ที่จะต้องเท่าทันกับเรื่องของสุขภาพให้มากขึ้น

“อีกส่วนหนึ่งคือบริบทเรื่องของระบบข้อมูลสารสนเทศ รวมถึงเทคโนโลยี ซึ่งเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญที่จะต้องพูดถึงธรรมนูญฯ ฉบับนี้ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่จะทำให้ระบบสุขภาพไทย เป็นไปตามเป้าหมายที่พึงประสงค์นั้น หนีไม่พ้นการใช้เทคโนโลยี และการตัดสินใจบนฐานข้อมูล ระบบ Big Data ที่ทุกอย่างจะต้องตอบสนองทันต่อการเปลี่ยนแปลง รวมถึงปัญหาอย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เราจะต้องให้น้ำหนักมากขึ้น เพราะในอนาคตสิ่งที่จะทำให้มนุษย์ยึดโยงด้วยกันได้คือเรื่องที่เป็น Global Commons ที่จะต้องมีการจัดการร่วมกัน” ดร.สุวิทย์ ระบุ

สำหรับที่ประชุมคณะกรรมการฯ ในครั้งนี้ ยังได้มีการรับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานที่ผ่านมาของคณะอนุกรรมการฯ อีก 2 คณะ คือคณะอนุกรรมการมีส่วนร่วมและรับฟังความเห็นฯ ที่ได้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในกลุ่มต่างๆ ไปแล้วรวม 8 เวที เพื่อนำข้อมูลไปใช้ประกอบการยกร่างธรรมนูญฯ และคณะอนุกรรมการสื่อสารสังคมฯ ที่จะมีการจัดซีรีย์เสวนาออนไลน์ “เสียงประชาชนกำหนดอนาคตระบบสุขภาพไทย” รวมทั้งสิ้น 5 ครั้ง เพื่อสื่อสารการจัดทำธรรมนูญฯ รวมถึงรับข้อเสนอในประเด็นต่างๆ

/////////////////////////////////////