กรมอนามัย แนะผู้จัดงานลอยกระทง เข้ม ‘พื้นที่แผงลอยขายอาหารริมบาทวิถี – ร้านอาหาร’ ลดเสี่ยงโควิด-19

​กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะผู้จัดงานลอยกระทง เข้มงวดพื้นที่จำหน่ายอาหารริมบาทวิถี ร้านอาหาร และแผงลอย ปฏิบัติตามมาตรการยกระดับ Universal Prevention – DMHTA เพื่อป้องกันการ แพร่ระบาดโรคโควิด-19

​นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เนื่องจากวันลอยกระทงในปีนี้ รัฐบาลได้อนุญาตให้สามารถจัดงานลอยกระทงได้ แต่ประชาชนควรต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ซึ่งคาดว่าการจัดงานลอยกระทงปีนี้ จะมีร้านอาหาร แผงลอยจำหน่ายอาหารเป็นจำนวนมาก ดังนั้น จึงขอให้ผู้จัดงานลอยกระทงเข้มงวดพื้นที่แผงลอยขายอาหารริมบาทวิถีให้ปฏิบัติตามมาตรการยกระดับ Universal Prevention – DMHTA โดยเจ้าของ ผู้ดูแลพื้นที่ควรมีทะเบียนแผงค้า ผู้ขาย ผู้ช่วยขาย ที่เข้ามาจำหน่ายสินค้า เจ้าของ ผู้ดูแลพื้นที่จัดบริการอาหารริมบาทวิถี กำหนดให้มีผู้รับผิดชอบ กำกับติดตามแผงค้าและผู้ขาย ผู้ช่วยขายทุกคน ต้องฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่กำหนด หรือ ตรวจ ATK มีผลเป็นลบ ไม่เกิน 7 วัน ปฏิบัติตามมาตรการ DMHTA อย่างเคร่งครัด เช่น สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าให้ถูกต้องตลอดเวลาระหว่างปฏิบัติงาน เว้นระยะห่างระหว่างกัน ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำ หรือล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ รวมทั้งไม่รวมกลุ่มกันในขณะปฏิบัติงาน และไม่ควรกินอาหารร่วมกัน ในส่วนของพ่อค้า แม่ค้า ผู้ปรุงอาหาร ควรแต่งกายให้สะอาด ตัดเล็บสั้น ไม่ใส่เครื่องประดับที่มือ ไม่ใช้มือหยิบจับอาหารหรือสวมถุงมือ ก่อนหยิบจับอาหารอย่างถูกต้อง และสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ขายอาหาร สำหรับประชาชนผู้ไปเที่ยวงาน ควรเลือกซื้ออาหารจากร้านอาหารหรือแผงลอยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานราชการ เช่น ป้ายมาตรฐานอาหารสะอาด รสชาติอร่อย Clean Food Good Taste เป็นต้น

​“นอกจากนี้ พ่อค้า แม่ค้า และนักท่องเที่ยวควรมีการบันทึกข้อมูลหรือลงทะเบียนเข้างาน ผ่านแอพพลิเคชันไทยชนะ และช่วยกันกำจัดขยะให้ถูกวิธี เพราะแผงลอยจำหน่ายอาหารดังกล่าวเป็นสถานที่ ที่มีคนมาจากหลากหลายพื้นที่และมีความเสี่ยงการปนเปื้อนเชื้อโรค ส่งผลให้เกิดปริมาณขยะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะขยะพลาสติก เช่น กล่องพลาสติกใส่อาหาร ช้อน ส้อม แก้ว หลอดดูด มีปริมาณเพิ่มขึ้น จึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการร้านอาหารและแผงลอยปรับเปลี่ยนภาชนะใส่อาหารประเภทพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งโดยให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากธรรมชาติ เช่น ชานอ้อย มันสำปะหลัง กระดาษ foodgrade และพลาสติกชีวภาพย่อยสลาย ได้ตามธรรมชาติแทน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***
กรมอนามัย/ 19 พฤศจิกายน 2564