กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยเอฟทีเอไทย-อินเดีย และ อาเซียน-อินเดีย ดันมูลค่าการค้าเติบโตต่อเนื่อง ตัวเลขสิ้นปี 61 ขยายตัวร้อยละ 508.9 พร้อมชี้เป้าอินเดียเป็นหนึ่งในประเทศน่าลงทุน เนื่องจากมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว หนุนเอกชนศึกษาและทำความเข้าใจ เพื่อใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอ ขยายการค้าและการลงทุนในประเทศอินเดียได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ปัจจุบันไทยมีความตกลงการค้าเสรีกับอินเดียที่มีผลใช้บังคับแล้วอยู่ 2 ฉบับ ที่ผู้ส่งออกสามารถเลือกใช้ประโยชน์ได้ ได้แก่ 1) เอฟทีเอไทย-อินเดีย ที่จัดทำในปี 2547 ซึ่งปัจจุบันสองประเทศมีการยกเลิกภาษีศุลกากรสินค้า 83 รายการระหว่างกัน อาทิ เงาะ ลำไย มังคุด ทุเรียน อาหารทะเลกระป๋อง อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดพลาสติก เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ และชิ้นส่วนยานยนต์ และ 2) เอฟทีเออาเซียน-อินเดีย ที่จัดทำในปี 2553 ซึ่งปัจจุบันมีการลดภาษีศุลกากรสินค้ากว่า 5,224 รายการ อาทิ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ ชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม เฟอร์นิเจอร์และส่วนประกอบ เครื่องสำอาง ผักและพืชประเภทถั่ว อาหารปรุงแต่ง และน้ำผลไม้ โดยมีสินค้าที่ลดภาษีเป็นศูนย์เเล้วกว่าร้อยละ 79 ของรายการสินค้าทั้งหมด
นางอรมน เสริมว่า จากการติดตามสถิติการค้าระหว่างไทยกับอินเดีย นับตั้งแต่ที่เอฟทีเอทั้งสองฉบับมีผลบังคับใช้ จนถึงสิ้นปี 2561 พบว่าการค้าระหว่างไทยกับอินเดียเติบโตอย่างมาก ขยายตัวถึงร้อยละ 508.9 โดยในปี 2561 มูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ 12,463.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จากปีก่อนหน้า เป็นมูลค่าการส่งออกจากไทยไปอินเดีย 7,600.3 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในจำนวนนี้มีมูลค่าการส่งออกภายใต้เอฟทีเอจำนวน 4,050 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 58 ของมูลค่าส่งออกไปอินเดีย โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก รถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เหล็ก เครื่องจักรกล และเครื่องปรับอากาศ โดยสินค้าส่งออกที่มีการใช้สิทธิเอฟทีเอสูงเป็นอันดับต้นๆ ภายใต้เอฟทีเอไทย-อินเดีย ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ โพลิคาร์บอเนต ตู้เย็นที่มีตู้แช่แข็ง อะลูมิเนียมเจือ และเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ และภายใต้เอฟทีเออาเซียน-อินเดีย ได้แก่ ลวดทองแดงเจือ มอนิเตอร์และเครื่องฉาย ฟีนอล (ไฮดรอกซิเบนซิน) เศษเหล็กกล้าไม่เป็นสนิม ส่วนประกอบและอุปกรณ์รถแทรกเตอร์ ขณะที่มูลค่าการนำเข้าจากอินเดียมาไทยอยู่ที่ 4,863.4 ล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นการนำเข้าภายใต้เอฟทีเอมูลค่า 640 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 13 ของการนำเข้าจากอินเดีย สินค้านำเข้าสำคัญจากอินเดียมาไทย เช่น เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ สินแร่ สัตว์น้ำ ส่วนประกอบรถยนต์ โดยสินค้านำเข้าที่มีการใช้สิทธิเอฟทีเอสูงเป็นอันดับต้นๆ ภายใต้เอฟทีเอไทย-อินเดีย ได้แก่ เกลือ องุ่นสดหรือแห้ง ผลไม้สด (ทับทิม) ของอื่น ๆ ทำด้วยเหล็กกล้า และเครื่องอัดลม (สำหรับเครื่องปรับอากาศ) และภายใต้เอฟทีเออาเซียน-อินเดีย ได้แก่ พริกแห้ง ด้ายฝ้าย ส่วนประกอบ/อุปกรณ์ยานยนต์ ผ้าทอทำด้วยฝ้าย ยารักษาหรือป้องกันโรค
“อินเดียเป็นประเทศที่มีประชากรกว่า 1,300 ล้านคน เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีขนาดเศรษฐกิจเป็นลำดับที่ 5 ของโลก หรือ 2.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยอินเดียจัดได้ว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ไทยจึงควรให้ความสนใจกับตลาดใหม่ที่มีศักยภาพเช่นอินเดีย นอกจากนี้อินเดียยังมีถึง 29 รัฐ ที่มีพฤติกรรมการบริโภคและความต้องการสินค้าที่หลากหลายแตกต่างกันไปตามกำลังซื้อ โดยในรัฐที่คนมีกำลังซื้อสูงอาศัยอยู่จำนวนมากก็จะมีความต้องการในการบริโภคสินค้าคุณภาพสูง และสำหรับรัฐที่คนมีกำลังซื้อต่ำลงมา ก็จะมีความต้องการในการบริโภคสินค้าคุณภาพลดหลั่นลงมาเช่นกัน อาทิ นิวเดลีเป็นเมืองหลวงที่มีศักยภาพด้านโทรคมนาคม การก่อสร้าง การท่องเที่ยว ยานยนต์ และบริการสุขภาพ ขณะที่มุมไบเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดในอินเดีย มีอุตสาหกรรมการผลิตคิดเป็นร้อยละ 25 ของอินเดีย และมีอุตสาหกรรมที่สำคัญ เช่น สิ่งทอ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักร ปิโตรเคมี โลหะ เหล็ก พลาสติก และการส่งออกซอฟเเวร์ เจนไนเป็นเมืองเเห่งอุตสาหกรรมยานยนต์ เเละการเชื่อมโยงทางทะเล และรัฐคุชราตเป็นรัฐที่มีพื้นที่ติดทะเลมากที่สุดในอินเดีย ซึ่งเป็นโอกาสของผู้ประกอบไทยที่สนใจลงทุนในสาขาอุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูป ยาและเวชภัณฑ์ อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น ผู้ประกอบการไทยจึงไม่ควรมองข้ามโอกาสจากตลาดขนาดใหญ่เช่นอินเดียนี้ และควรพยายามศึกษาและทำความเข้าใจใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ รวมทั้งขยายการลงทุนทำธุรกิจในประเทศอินเดียเพิ่มขึ้น” นางอรมนเสริม
สำหรับผู้ประกอบการหรือผู้ที่สนใจข้อมูลเอฟทีเอ และข้อมูลกฎระเบียบทางการค้าของประเทศอินเดีย อาทิ สถิติการค้า อัตราภาษีนำเข้า-ส่งออก และกฎระเบียบทางการค้าการลงทุนของประเทศอินเดีย สามารถสืบค้นข้อมูลได้ผ่านทาง http://www.dtn.go.th/ และ http://ftacenter.dtn.go.th หรือสอบถามได้ที่FTA Center ชั้น 3 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ Call Center หมายเลข 0 2507 7555 และทาง e-mail : ftacenter@dtn.go.th
————————————————
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์