“สุรศักดิ์” เลขาธิการ กศน. มอบแนวทางการดำเนินงาน สำนักงาน กศน. ปี 65ชูขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการทำงานให้ครอบคลุมทั้ง 4 มิติ

นายสุรศักดิ์ อินศรีไกร เลขาธิการ กศน. เป็นประธานการประชุมชี้แจงจุดเน้นและแนวทางการดำเนินงาน สำนักงาน กศน. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ณ อาคารหอประชุมทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ โดยมีผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัด สำนักงานกศน. ในระดับจังหวัดและผู้บริหาร ระดับอำเภอ เข้าร่วมการประชุมเพื่อนำแนวทางการดำเนินงานในครั้งนี้ไปสู่การปฏิบัติโดยพร้อมเพรียงกัน นอกจากนี้ยังมีพิธีมอบเกียรติบัตรให้แก่สำนักงาน กศน.จังหวัด/กทม.ที่มีผลคะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านการศึกษานอกระบบ (N-Net) ผ่านตามเกณฑ์มาตรฐาน ในการประเมินเป้าหมายขั้นสูง จำนวน 17 จังหวัด เป้าหมายมาตรฐาน จำนวน 2 จังหวัด และ เป้าหมายขั้นต้น จำนวน 3 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 22 จังหวัด เพื่อเป็นการยกย่อง และสร้างขวัญกำลังใจในการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551

นายสุรศักดิ์ อินศรีไกร เลขาธิการ กศน. กล่าวในการประชุมชี้แจงจุดเน้นและแนวทางการดำเนินงาน สำนักงาน กศน. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ว่า เป็นโอกาสดีที่มีโอกาสพบปะพี่น้องชาว กศน . เพื่อให้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนงาน กศน. ภายใต้หลักการ “กศน. เพื่อประชาชน ก้าวใหม่ : ก้าวแห่งคุณภาพ” โดยเฉพาะภารกิจของหน่วยงาน สามารถขับเคลื่อนอย่างชัดเจน มีคุณภาพ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้จึงเปรียบเสมือนการตอกย้ำทิศทางการทำงานว่า การดำเนินงาน ของ กศน.จะสำเร็จได้นั้น พวกเราต้องร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ในการขับเคลื่อนงานอย่างเป็นระบบและมีคุณภาพ เนื่องจากงานของ กศน. ถือเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ เป็นที่พึ่งของประชาชน ตามนโยบายของทางรัฐบาลและทางกระทรวงศึกษาธิการที่ว่าไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง นอกจากนี้ หลักการบริหารจัดการ กศน. ตนได้ให้ความสำคัญ และได้แบ่งโครงสร้างออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือ ต้นน้ำ คือ หน่วยงานกลุ่ม / ศูนย์ส่วนกลาง บทบาทหน้าที่ของส่วนกลางจะเป็นผู้กำหนดเป้าหมายการบริหารจัดการในการขับเคลื่อนงาน ดูแล ช่วยเหลือ นิเทศ กำกับ ติดตาม ประเมินผล ตลอดจนสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงานแก่ผู้ปฏิบัติงาน กลางน้ำ คือ สถาบัน กศน.ภาค และสำนักงาน กศน.จังหวัด ซึ่งมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนงานนโยบายไปสู่พื้นที่ และจะเป็นโซ่ข้อกลางในการประสานงานระหว่างต้นน้ำ และ ปลายน้ำ ส่วนสุดท้ายปลายน้ำ คือ กศน.อำเภอ และ กศน.ตำบล เป็นส่วนสำคัญในการปฏิบัติงาน ก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ นำผลไปสู่เป้าหมายของการทำงาน การปฏิบัติงานทั้ง 3 ส่วน ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำต้องทำงานเชื่อมประสานกัน เพื่อบรรลุเป้าหมายของ กศน.

นายสุรศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับนโยบายจุดเน้นและแนวทางการดำเนินงาน สำนักงาน กศน. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีแนวทางการขับเคลื่อนงาน กศน. แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลักใหญ่ๆ คือ

1).การน้อมนำพระบรมราโชบาย โครงการพระราชดำริฯสู่การฏิบัติ

2) นำนโยบายของ กระทรวงศึกษาธิการลงสู่การปฏิบัติ ตามที่นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบนโยบายไว้เป็นหลักขับเคลื่อนงาน เพื่อให้ กศน.นำไปต่อยอดให้มีความยั่งยืนและเป็นแบบอย่างต่อไป

3) นำนโยบาย จุดเน้น และแนวทางการดำเนินงาน สำนักงาน กศน. ไปสู่การปฏิบัติ โดยมุ่งเน้นประเด็นหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพในมิติต่างๆ ได้แก่

1) การจัดการเรียนรู้คุณภาพ อาทิ การปรับปรุงหลักสูตร การวัดผลประเมินผล การพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้ และการนิเทศ กำกับ ติดตาม

2) การสร้างสมรรถนะและทักษะคุณภาพ อาทิ การส่งเสริมการศึกษาสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการ และสตรีตั้งครรภ์ การส่งเสริมการพัฒนาทักษะด้านภาษาและดิจิทัล การสร้างสมรรถนะและทักษะชีวิต อาชีพ และวิชาการ

3) องค์กร/สถานศึกษา และแหล่งเรียนรู้คุณภาพ อาทิ ยกระดับมาตรฐาน กศน.ตำบล ให้มีคุณภาพ การส่งเสริมกลุ่ม กศน.จังหวัด ให้เข้มแข็ง การให้บริการวิทยาศาสตร์เชิงรุก มีแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย และการสร้างอาสาสมัคร กศน.

4) การบริหารจัดการคุณภาพ อาทิ ปรับปรุงแผนอัตรากำลัง พัฒนาบุคลากร ทุกประเภททุกระดับ การเสริมสร้างขวัญและกำลังใจ ยึดหลักธรรมาภิบาล สร้างภาคีเครือข่ายและการมีส่วนร่วม การใช้เทคโนโลยีเพื่อการบริหาร และการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ

ซึ่งการขับเคลื่อนในด้านต่าง ๆ เหล่านี้ มีเป้าหมายในการสร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ยกระดับคุณภาพการศึกษาและการบริการให้กลุ่มเป้าหมาย มีความสุข มีทักษะสมวัย เก่ง ดี และกล้า บุคลากรในสังกัดมีความสุขในการปฏิบัติงานมีขวัญและกำลังใจที่ดี และงานมีคุณภาพ ซึ่งการขับเคลื่อนในเรื่องต่าง ๆ ดังกล่าวนั้นจะต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานและสถานศึกษาในสังกัดทุกแห่ง ถ่ายทอดความเข้าใจไปสู่บุคลากรในระดับปฏิบัติงาน รวมทั้งกำกับ ดูแล ส่งเสริม และสนับสนุนภารกิจที่ต้องดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ไปสู่การปฏิบัติต่อไป เพื่อให้เป็น “กศน. เพื่อประชาชน ก้าวใหม่ : ก้าวแห่งคุณภาพ” อย่างแท้จริง