งานจักสานเป็นหนึ่งในภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย โดยในอดีตมักใช้วัสดุจากธรรมชาติและหาได้ง่าย ๆ อาทิ เชือกกล้วย นำมาจักสานเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ สำหรับใช้สอยในชีวิตประจำวัน แต่ปัจจุบันหลายชุมชนได้พัฒนาสร้างสรรค์มาใช้วัสดุทางเลือกที่มีความทนทานมากขึ้น อย่างเช่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเจ็ดสาวน้อยที่นำเอาเชือกมัดฟางมาสานเป็น “ตระกร้าเชือกมัดฟาง” ลวดลาย หลากสีสันสวยงาม กลายเป็นสินค้าขายดีมีแบรนด์ สร้างอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้ชุมชน
มวกเหล็ก จ.สระบุรี เป็นพื้นที่แห่งการเลี้ยงโคนม ทำให้มีเชือกมัดฟางเหลือใช้จำนวนมาก เป็นจุดสำคัญที่ทำให้ “ชัญกาญจน์ จักรพล” หัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเจ็ดสาวน้อย สนใจเรียนรู้เรื่องการทำตระกร้าจากเชือกมัดฟาง ประกอบกับมีบ้านอยู่ติดริมถนนซึ่งเป็นทางผ่านไปยังแหล่งท่องเที่ยว มีคนเดินทางผ่านไปมาคึกคักโดยเฉพาะในช่วงฤดูท่องเที่ยว มองว่าหากทำงานฝีมือมาวางขายน่าจะได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว จึงลองฝึกทำให้เชี่ยวชาญ และมองหาลวดลายใหม่ ๆ เพิ่มเติมจากอินเทอร์เน็ต โดยจุดเปลี่ยนสำคัญคือ การมีโอกาสเข้าอบรมในโครงการพลังชุมชนของเอสซีจี ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องการสร้างโอกาส การเข้าถึงลูกค้า สร้างแบรนด์และเรื่องราวให้สินค้า รวมทั้งได้เจอเครือข่ายชุมชนอื่น ๆ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมทั้งช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
“เดิมทำอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก ขายพรมเช็ดเท้าถักมือเป็นอาชีพเสริมมีรายได้เพิ่มเดือนละ 2,000 – 3,000 บาท จนกระทั่งปี 2553 มีโอกาสเข้าไปอบรมทำตระกร้าจากเชือกมัดฟาง ก็ลองฝึกทำและศึกษาสินค้าจากที่อื่น ๆ เพื่อนำมาพัฒนาสินค้าของเราให้มีความหลากหลายตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น พยายามสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งรายอื่น ๆ ในตลาด สร้างสรรค์ลวดลายให้มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว รวมทั้งปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้ามากขึ้น ในทุกวันนี้สามารถสร้างรายได้เสริมจากสินค้าเชือกมัดฟางมากกว่าเดือนละ 10,000 บาท เนื่องจากเป็นสินค้าแฮนด์เมดที่มีความประณีต มีความละเอียดสูง และยังมีความทนทานใช้งานได้ยาวนาน ทำให้เป็นที่ชื่นชอบของลูกค้า ผลิตแทบไม่ทันกับความต้องการของลูกค้าจนไม่มีสินค้าเก็บค้างอยู่ในสต๊อก เพราะสินค้าแต่ละชิ้นต้องใช้เวลาในการผลิตค่อนข้างนาน” ชัญกาญจน์ เล่าอย่างภาคภูมิใจ
พร้อมบอกเพิ่มเติมถึงเคล็ด (ไม่) ลับที่ทำให้สินค้าของของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเจ็ดสาวน้อยติดตลาดว่า เดิมการผลิตสินค้าเป็นไปตามความต้องการของกลุ่มเป็นหลัก แต่หลังจากได้เข้าอบรมเสริมความรู้ในโครงการพลังชุมชนของเอสซีจี ก็มีการปรับเปลี่ยนวิธีคิดในการทำงานกันใหม่ โดยหันไปรับฟังลูกค้ามากขึ้น ทำให้มีความเข้าใจและมองในมุมของลูกค้าว่าต้องการซื้อสินค้าไปเพื่ออะไร ต้องการใช้ในโอกาสแบบไหน สินค้าที่ผลิตน่าจะนำไปทำอะไรได้อีกบ้าง เช่น กระเป๋า ของตกแต่งบ้าน ทำให้ผลิตสินค้าได้ตรงความต้องการของลูกค้ามากขึ้น ที่สำคัญช่วยให้ขยายช่องทางการขายผ่านออนไลน์และชุมชนในละแวกใกล้เคียงที่มักจะซื้อสินค้าไปเป็นของขวัญในโอกาสพิเศษต่าง ๆ ซึ่งชดเชยมายอดขายจากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่หายไปแทบจะเป็นศูนย์ในช่วงสถานการณ์โควิด-19
แม้วันนี้สินค้าจากเชือกมัดฟางจะเป็นสินค้าจากชุมชนที่ขายดิบขายดีจนผลิตแทบไม่ทันกับความต้องการของลูกค้า แต่เป้าหมายที่สำคัญกว่าของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเจ็ดสาวน้อยคือ การพัฒนาฝีมือของสมาชิกให้มีความเชี่ยวชาญและมีความอดทนใส่ใจผลิตชิ้นงานที่มีความละเอียดสูง ประณีต สวยงาม ได้เพียงพอกับความต้องการของลูกค้าได้ในทุกเทศกาล เพื่อให้สินค้าเชือกมัดฟางสร้างชื่อเสียง นำมาสู่การสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับชุมชน
“ตระกร้าเชือกมัดฟาง” สีสันภูมิปัญญาจากท้องถิ่น ที่พัฒนาสร้างสรรค์จากวัสดุเหลือใช้อย่างเชือกมัดฟาง ด้วยความใส่ใจ ทำให้มีคุณภาพที่ดี ลวดลายสีสันหลากหลาย มีความแข็งแรง ทนทาน ไม่ขึ้นรา ทั้งยังสามารถซักทำความสะอาดได้ สนใจอุดหนุนสินค้าภูมิปัญญาจากชุมชน สามารถสั่งซื้อได้ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเจ็ดสาวน้อย