กวาวเครือขาว เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งซึ่งถูกคัดเลือกให้เป็น champion products ที่มีศักยภาพทั้งใน ด้านการนำไปพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์และในการผลิตเป็นวัตถุดิบสำหรับส่งออก ตามแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560-2564 เพื่อการพัฒนาสมุนไพรไทยอย่างยั่งยืน (1)
กวาวเครือขาวในประเทศไทยพบได้ 2 พันธุ์ ได้แก่ Pueraria candollei Graham ex Benth. var. mirifica (Airy Shaw & Suvat.) Niyomdham พบมากในจังหวัดสระบุรี โดยฝักจะมีขนยาวกว่า อีกพันธุ์คือ Pueraria candollei Graham ex Benth. var. candollei พบมากในจังหวัดกาญจนบุรีและลำปาง (2) ลักษณะทางพฤกษศาสตร์โดยทั่วไปคล้ายคลึงกัน คือ เป็นไม้เถา เนื้อแข็ง เลื้อยพันตามไม้ใหญ่ ใบประกอบมี ใบย่อย 3 ใบ ดอกออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกย่อยเป็นดอกสมมาตรด้านข้างแบบ รูปดอกถั่ว กลีบดอกสีม่วงอมน้ำเงิน ฝักลักษณะแบน รูปขอบขนาน รากมีส่วนสะสมอาหาร คล้ายหัวมันแกว เนื้อในมีสีขาว มีสรรพคุณแผนโบราณ ใช้เป็นตัวยาหนึ่งในตำรับยาบำรุงร่างกาย (3-5) สำหรับงานวิจัยของกวาวเครือขาว พบว่าประกอบด้วยสารกลุ่มไฟโตเอสโตรเจน (phytoestrogens) ที่สำคัญ 3 กลุ่ม คือ 1) สารกลุ่มไอโซฟลาโวน (isoflavones) ได้แก่ พูราริน (puerarin), เดดเซอีน (daidzein), เจนิสเตอีน (genistein) 2) สารกลุ่มคิวเมสแทน (coumestans) ได้แก่ คิวเมสทรอล (coumestrol) และ 3) สารกลุ่มโครมีน (chromenes) ได้แก่ ไมโรเอสทรอล (miroestrol) และดีออกซีไมโรเอสทรอล (deoxymiroestrol) ซึ่งเป็นสารที่มีโครงสร้างทางเคมีและมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาคล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogenic activity) (6-9) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีหน้าที่หลักคือ ทำให้ร่างกายพัฒนาเจริญเติบโตพร้อมแสดงลักษณะของเพศหญิง ทำให้ร่างกายสะสมไขมัน เพิ่มการสะสมแคลเซียมในกระดูก และมีผลต่อกระบวนเผาผลาญของร่างกาย
การศึกษาทางคลินิกของกวาวเครือขาวมีรายงานว่า กวาวเครือขาวช่วยบรรเทาอาการของสตรีวัยหมดประจำเดือนได้ เช่น ช่วยลดอาการร้อนวูบวาบ ลดอาการช่องคลอดแห้ง บรรเทาภาวะกระดูกพรุนและไขมัน ในเลือดสูง ในสตรีวัยหมดประจำเดือน ดังตัวอย่างการศึกษาต่อไปนี้
– ผลต่ออาการร้อนวูบวาบ (Vasomotor symptoms, Hot flushes)
การศึกษาทางคลินิกในสตรีที่ผ่าตัดมดลูก และมีอาการของวัยหลังหมดประจำเดือน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 26 คน ให้รับประทานกวาวเครือขาวขนาด 25 และ 50 มก./วัน ตามลำดับ เป็นเวลา 6 เดือน และประเมินอาการของวัยหมดประจำเดือนด้วย a modified Greene Climacteric Scale ในช่วงเดือนที่ 3 และ 6 ของการทดสอบ ผลการทดสอบพบว่า กวาวเครือขาวมีผลช่วยบรรเทาอาการร้อนวูบวาบและอาการต่างๆ ของสตรีวัยหมดประจำเดือน โดยทั้งสองขนาดให้ผลใกล้เคียงกัน ซึ่งพบอาการคัดตึงเต้านม 12 ราย และอาหารไม่ย่อย 9 ราย แต่อาการดังกล่าวจะหายได้เองหลังหยุดรับประทาน (10)
– ผลต่อกระดูก
การศึกษาทางคลินิกในสตรีวัยหมดประจำเดือนที่สุขภาพดี เพื่อประเมินอัตราการผลัดเปลี่ยนกระดูก (bone turnover) ผลต่อเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกและเต้านม ค่าโลหิตวิทยาและค่าทางชีวเคมีต่างๆ โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มที่ให้รับประทานกวาวเครือขนาด 20, 30 และ 50 มก./วัน ตามลำดับ เปรียบเทียบกับกลุ่ม ยาหลอก เป็นเวลา 24 สัปดาห์ ผลการทดสอบพบว่า กวาวเครือขาวมีผลลดระดับของ bone-specific alkaline phosphatase และมีผลต่ออัตราการผลัดเปลี่ยนกระดูก อาจจะส่งผลในการยับยั้งการสลายกระดูก (antiresorptive activity) ได้ โดยไม่มีผลต่อเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกและเต้านม ค่าโลหิตวิทยาและค่าการทำงานของตับและไต ของกลุ่มที่ได้รับกวาวเครือขาวและยาหลอก ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (11)
– ผลต่อระดับไขมันในเลือด
การศึกษาทางคลินิกในสตรีวัยหมดประจำเดือน โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มที่ให้รับประทานยาเม็ดที่มีส่วนผสมของผงกวาวเครือขาวขนาดเม็ดละ 25 มก. โดยรับประทาน 2 ครั้ง/วัน ครั้งละ 2 เม็ด ตอนเช้าและบ่าย รวมเท่ากับ 100 มก./วัน เปรียบเทียบกับกลุ่มยาหลอก เป็นเวลา 2 เดือน พบว่ากวาวเครือขาวมีผลในการ เพิ่มระดับไขมัน HDL และ apolipoprotein (apo) A-1 และลดระดับ LDL และ apo B ได้ (12)
– ผลต่อสุขภาพของช่องคลอด
การศึกษาทางคลินิกในสตรีวัยหมดประจำเดือนสุขภาพดี เพื่อประเมินลักษณะอาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับช่องคลอด โดยให้รับประทานแคปซูลกวาวเครือขาวขนาด 20, 30 และ 50 มก./วัน เป็นเวลา 24 สัปดาห์ เปรียบเทียบกับกลุ่มยาหลอก ผลการทดสอบพบว่า กวาวเครือขาวช่วยบรรเทาอาการช่องคลอดแห้ง และ ลดอาการเจ็บปวดขณะร่วมเพศ (dyspareunia) และมีผลทำให้ช่องคลอดที่ฝ่อดีขึ้น (13) นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาทางคลินิกในสตรีวัยหมดประจำเดือน แบ่งออกเป็นกลุ่มที่ได้รับเจลกวาวเครือขาวทาช่องคลอดขนาด 0.5 ก./วัน นาน 2 สัปดาห์ และลดลงเหลือ 3 ครั้ง/สัปดาห์ นาน 10 สัปดาห์ เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับฮอร์โมนทดแทนเอสโตรเจนรูปแบบครีม (conjugated equine estrogen; CEE) ผลการทดสอบพบว่า เจลกวาวเครือขาวมีผลในการบรรเทาอาการช่องคลอดแห้งได้ แต่ครีม CEE มีประสิทธิภาพที่ดีกว่า (14)
จากตัวอย่างงานวิจัยที่ผ่านมา กวาวเครือขาวจึงเป็นสมุนไพรที่น่าจะมีศักยภาพในการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อที่จะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่อไป อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน กวาวเครือขาวมีการขึ้นทะเบียนเป็น ยาแผนโบราณ แต่จะพบเห็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนผสมของกวาวเครือขาวหลายชนิด ซึ่งกวาวเครือขาวไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในรายชื่อพืชที่ใช้ได้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ปีพ.ศ. 2560 (15) เพราะฉะนั้นควรระมัดระวังในการใช้งาน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง และจากการรวบรวมข้อมูลในปี พ.ศ. 2561 นักวิจัยระบุว่าควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานวิจัยของกวาวเครือขาว ทั้งในด้านประสิทธิผลและความปลอดภัย เช่น ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา การศึกษาทางคลินิก และการศึกษาความปลอดภัยจากการใช้กวาวเครือขาวในระยะยาว การติดตามความปลอดภัยของยา (pharmacovigilance) เป็นต้น (16) เพื่อให้มีข้อมูลสนับสนุนเพียงพอสำหรับการใช้ประโยชน์จากกวาวเครือขาวให้มีประสิทธิผลมากที่สุด และเพื่อ
ความปลอดภัยต่อผู้บริโภค จึงไม่ควรใช้ในเด็กหญิงวัยก่อนมีประจำเดือน สตรีที่ยังมีประจำเดือน สตรีที่อยู่ในระหว่างให้นมบุตร ผู้ที่เป็นโรคมะเร็ง เนื้องอก โดยเฉพาะเป็นที่บริเวณเต้านม มดลูกและรังไข่ เป็นต้น เนื่องจากยังไม่มีรายงานความปลอดภัยเมื่อใช้ในกลุ่มคนดังกล่าว นอกจากนี้ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานเนื่องจากยังไม่มีรายงานความปลอดภัยหากใช้ติดต่อกันนานกว่า 1 ปี
เอกสารอ้างอิง
- แผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560 – 2564 [อินเทอร์เน็ต]. 2561 [เข้าถึงเมื่อ 19 เม.ย. 2561]. เข้าถึงได้จาก: https://www.dtam.moph.go.th/images/download/dl0021/MasterPlan-Thaiherb.pdf
- สมภพ ประธานธุรารักษ์, พร้อมจิต ศรลัมพ์ (บรรณาธิการ). สมุนไพร: การพัฒนาเพื่อการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืน. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, 2547: 164 หน้า.
- นันทวรรณ บุณยะประภัศร. สมุนไพรไม้พื้นบ้าน เล่ม 1. กรุงเทพฯ: บริษัทประชาชน จำกัด, 2539: 895 หน้า.
- ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. ระบบข้อมูลทางวิชาการ: กวาวเครือขาว [อินเทอร์เน็ต]. 2561 [เข้าถึงเมื่อ 19 เม.ย. 2561]. เข้าถึงได้จาก: http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=16
- วิชัย เชิดชีวศาสตร์. นวัตกรรมสมุนไพรกวาวเครือขาว. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์; 2552: 509 หน้า.
- Cherdshewasart W, Kitsamai Y, Malaivijitnond S. Evaluation of the estrogenic activity of the wild Pueraria mirifica by vaginal cornification assay. J Reprod Dev. 2007;53(2):385-93.
- Cherdshewasart W, Sriwatcharakul S, Malaivijitnond S. Variance of estrogenic activity of the phytoestrogen-rich plant. Maturitas. 2008;61(4):350-7.
- Manonai J, Seif C, Böhler G, Jünemann KP. The effect of Pueraria mirifica on cytologic and urodynamic findings in ovariectomized rats. Menopause. 2009;16(2):350-6.
- Malaivijitnond S. Medical applications of phytoestrogens from the Thai herb Pueraria mirifica. Front Med. 2012;6(1):8-21.
- Virojchaiwong P, Suvithayasiri V, Itharat A. Comparison of Pueraria mirifica 25 and 50 mg for menopausal symptoms. Arch Gynecol Obstet. 2011;284(2):411-9.
- Manonai J, Chittacharoen A, Udomsubpayakul U, Theppisai H, Theppisai U. Effects and safety of Pueraria mirifica on lipid profiles and biochemical markers of bone turnover rates in healthy postmenopausal women. Menopause. 2008;15(3):530-5.
24 Jun 2018
- Okamura S, Sawada Y, Satoh T et al, Pueraria mirifica phytoestrogens improve dyslipidemia in postmenopausal women probably by activating estrogen receptor subtypes. Tohoku J Exp Med. 2008;216(4):341-51.
- Manonai J, Chittacharoen A, Theppisai U, Theppisai H. Effect of Pueraria mirifica on vaginal health. Menopause. 2007;14(5):919-24.
- Suwanvesh N, Manonai J, Sophonsritsuk A, Cherdshewasart W. Comparison of Pueraria mirifica gel and conjugated equine estrogen cream effects on vaginal health in postmenopausal women. Menopause. 2017;24(2):210-5.
- ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง รายชื่อพืชที่ใช้ได้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร [อินเทอร์เน็ต]. 2561 [เข้าถึงเมื่อ 19 เม.ย. 2561]. เข้าถึงได้จาก:
http://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_fda/600810_name.pdf
- Kongkaew C, Scholfield NC, Dhippayom T, Dilokthornsakul P, Saokaew S, Chaiyakunapruk N. Efficacy and safety of Pueraria candollei var. mirifica (Airy Shaw & Suvat.) Niyomdham for menopausal women: a systematic review of clinical trials and the way forward. J Ethnopharmacol. 2018;216:162-74.
ขอบคุณข้อมูลจาก MED HERB GURU ธิดารัตน์ จันทร์ดอน สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล