พช.อ่างทอง ขับเคลื่อนศาสตร์พระราชา มุ่งสร้างแกนนำขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาพื้นที่ต้นแบบสู่ศูนย์เรียนรู้ ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล”

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 เวลา 13.00 น.นายทินกร บุญเงิน พัฒนาการจังหวัดอ่างทอง มอบหมาย นายคนอง ส่งช่วย ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน และนางสาวเปมิกา คงกระพันธ์ นักวิชาการพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ ลงพื้นที่แปลงผู้นำต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่รูปแบบประยุกต์ “โคก หนอง นา ” จังหวัดอ่างทองนายอักขราพัชร ลายตลับ “กาเหว่า” เพื่อเตรียมความพร้อมขับเคลื่อนโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมที่ 1 สร้างและพัฒนากลไกการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ กิจกรรมที่ 1.1 อบรมแกนนำขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ณ ฟาร์มเกษตรสุขทวี ตำบลศรีพราน อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง

ตามที่กรมการพัฒนาชุมชน แจ้งอนุมัติโครงการและจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินงานตามโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมที่ 1 สร้างและพัฒนากลไกการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ กิจกรรมที่ 1.1 อบรมแกนนำขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ในรูปแบบออนไลน์ โดยจัดการฝึกอบรมผู้แทนครัวเรือนพัฒนาพื้นที่เรียนรู้ “โคก หนอง นา” ผู้นำชุมชนของครัวเรือนเป้าหมาย และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดผู้นำพัฒนา (Change Leader) ที่อยู่ในชุมชน และนำการพัฒนาให้สอดคล้องกับบริบทชุมชนและนำไปสู่สิ่งที่ชุมชนต้องการ สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาหมู่บ้านให้เป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบร่วมกันของชุมชน นั้น

ปัจจุบันภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ที่ยังคงมีการแพร่ระบาด กรมการพัฒนาชุมชน จึงมอบหมายให้ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนและสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเป็นหน่วยดำเนินการ โดยให้จังหวัดที่มีศักยภาพและความพร้อมเป็นหน่วยดำเนินการฝึกอบรม โดยจังหวัดอ่างทองกำหนดดำเนินการระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2564 กลุ่มเป้าหมายจำนวน 31 คน ณ ฟาร์มเกษตรสุขทวี ตำบลศรีพราน อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง

สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอ่างทองได้เล็งเห็นความสำคัญของการดำเนินงานดังกล่าว จึงได้ดำเนินการพูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นร่วมกับทีมวิทยากร โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

1. สถานที่ในการฝึกอบรม อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการฝึกอบรม เช่น คอมพิวเตอร์ โปรเจคเตอร์พร้อมจอ สัญญาณอินเตอร์เน็ต

2. การเน้นย้ำเนื้อหาในการจัดกิจกรรมต้องเป็นไปตามที่กรมการพัฒนาชุมชนกำหนด แต่ปรับเปลี่ยนตารางการอบรมให้มีความต่อเนื่อง สอดคล้อง และเหมาะสมกับภูมิสังคมมากที่สุด

3. ตรวจความพร้อมสถานที่ให้ความรู้ เช่น จุดเรียนรู้ร่วมกันทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ การวางฐานการเรียนรู้แต่ละจุดให้เหมาะสมกับพื้นที่

4. ตรวจความพร้อมสถานที่สำหรับให้บริการ เช่น จุดรับประทานอาหาร อาหารว่าง ห้องน้ำ จุดพักผ่อน และที่จอดรถ

นายคนอง ส่งช่วย ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ จะทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการฯ เข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น และน้อมนำแนวพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปสู่การปฏิบัติ เพื่อการพัฒนาที่สมดุลเป็นธรรมและมีภูมิคุ้มกันกับผลกระทบการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ สามารถบูรณาการตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชา ให้สอดคล้องกับภูมิสังคมของแต่ละพื้นที่ เช่น การบริหารจัดการน้ำและพื้นที่การเกษตรด้วย “โคก หนอง นา โมเดล” มีการบริหารจัดการชุมชนแบบบูรณาการที่เข้มแข็ง และพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้มั่นคง