อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เชิญชวน คนไทยใช้ “ดอกไม้ไทย” สำหรับเทศกาลวาเลนไทน์ที่จะถึงนี้

นายสำราญ  สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สำหรับเทศกาลวาเลนไทน์ที่จะถึงนี้ ขอเชิญชวน คนไทยใช้ “ดอกไม้ไทย” ทั้ง กล้วยไม้ เป็นสื่อรักแทนใจ เนื่องจากกล้วยไม้เป็นพืชทรงคุณค่า ต้องใช้เวลาปลูกเลี้ยงนานกว่าจะออกดอก เมื่อออกดอกแล้ว สามารถบานทนทานได้นาน แสดงถึงความรักที่ยั่งยืนและยาวนาน หรือ กุหลาบของไทย ที่ ปัจจุบัน ปลูกมาก ที่ อ.พบพระ จ.ตาก สำหรับประเทศไทยสามารถส่งออกกล้วยไม้เมืองร้อนมากที่สุดของโลก ปีละประมาณ 3,000 ล้านบาท ร้อยละ 80 ส่งออก กล้วยไม้ตัดดอก โดยส่งออก กล้วยไม้สกุลหวาย รองลงมา ได้แก่ มอคคาร่า และ แวนด้า ผู้นำเข้ากล้วยไม้ที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป สาธารณรัฐประชาชนจีน และเวียดนาม

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยนิยมใช้ดอกไม้ในช่วงเทศกาลต่างๆ เช่น มะลิ บัว ไม้ร้อยมาลัย เบญจมาศ กล้วยไม้ ฯลฯ ใช้ในวันสำคัญทางศาสนา วันสงกรานต์ วันพระ อยู่แล้ว และสำหรับเทศกาลสำคัญที่นิยมมอบดอกไม้เป็นสื่อรักแทนใจ จึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนใช้ดอกไม้ไทย เป็นสื่อรักแทนใจ สำหรับแนวทางการส่งเสริมการปลูกไม้ดอกไม้ประดับของประเทศไทย เน้นการส่งเสริมให้เป็นพืชทางเลือกในการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร และส่งเสริมการผลิตในรูปแบบเกษตรแปลงใหญ่ โดยการรวมเกษตรกรรายย่อย 30 ราย หรือมีพื้นที่ปลูกรวมกันมากกว่า 300 ไร่ขึ้นไป เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน มีเป้าหมาย 5 ด้าน คือ ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต พัฒนาคุณภาพให้ได้มาตรฐาน เชื่อมโยงการผลิตการตลาด และพัฒนาการบริหารจัดการของกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ ปัจจุบันมีแปลงใหญ่ไม้ดอกไม้ประดับ รวมถึงกล้วยไม้ จำนวน 35 แปลง และส่งเสริมการใช้สารชีวภัณฑ์ทดแทนสารเคมี เพื่อลดการใช้สารเคมีให้น้อยลง เพื่อความปลอดภัยของผู้ผลิต ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม

จากข้อมูลทะเบียนเกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตร เมื่อปี 2561 มีผู้มาขึ้นทะเบียนผู้ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ พื้นที่ 57,838 ไร่ จำนวน 13,426 ครัวเรือน แบ่งเป็น ไม้ดอก 34,813.02 ไร่ จำนวน 8,388 ครัวเรือน ไม้ประดับ 23,024.91 ไร่ 5,038 ครัวเรือน โดยแหล่งผลิตไม้ดอกที่สำคัญ ได้แก่ จังหวัดนครปฐม สมุทรสาคร กรุงเทพฯ นครสวรรค์ นนทบุรี สุพรรณบุรี เชียงใหม่ ราชบุรี ตาก อุบลราชธานี และเลย ชนิดไม้ดอกที่มีพื้นที่ปลูกมากที่สุด ได้แก่ กล้วยไม้ พื้นที่ปลูก 12,524 ไร่ เกษตรกร 1,412 ราย มะลิ 5,351.2 ไร่ จำนวน 2,759 ครัวเรือน รัก 5,180 ไร่ เกษตรกร 1,405 ครัวเรือน บัวหลวง 3,674 ไร่ จำนวน 548 ครัวเรือน ดาวเรือง 2,060 ไร่ 983 ครัวเรือน จำปี-จำปา 1,639 ไร่ 254 ครัวเรือน สร้อยทอง 551 ไร่ เกษตรกร 121 ครัวเรือน เบญจมาศ 389 ไร่ 144 ครัวเรือน และกุหลาบ 1,404 ไร่ 322 ครัวเรือน ดอกพุด 316 ไร่ 275 ครัวเรือน พีค็อค 355 ไร่ 181 ครัวเรือน ไม้เด็ดดอกอื่นๆ 350 ไร่ 122 ครัวเรือน ไม้ดอกเมืองหนาวอื่นๆ 320 ไร่ 108 ครัวเรือน

นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ยังมีแหล่งไม้ประดับที่สำคัญ ได้แก่ จ.ปทุมธานี สระบุรี กรุงเทพฯ นครนายก นครปฐม และนนทบุรี ชนิดไม้ประดับที่ปลูกมาก ได้แก่ ไม้ขุดล้อมอื่นๆ 7,284 ไร่ จำนวน 1,026 ครัวเรือน หญ้าสนาม 4,362 ไร่ 592 ครัวเรือน เตย 1,964 ไร่ 683 ครัวเรือน ไม้ประดับกระถางอื่นๆ 1,608 ไร่ 649 ครัวเรือน ไม้ชำถุงอื่นๆ 1,230 ไร่ 572 ครัวเรือน ไทร 1,130 ไร่ 217 ครัวเรือน

********************************************