พส. ขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านสวัสดิการสังคมแห่งรัฐ สวัสดิการเพื่อการพัฒนาและพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน

วันที่ (วันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562) เวลา 09.00 น. ณ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ประธานกรรมการมูลนิธิศาสตราจารย์ปกรณ์  อังศุสิงห์ ต้อนรับผู้ร่วมงานวันปกรณ์’62 และพิธีประกาศเกียรติคุณ นักสังคมสงเคราะห์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2561 พร้อมบรรยายใน หัวข้อ “การจัดสวัสดิการเชิงรุกที่เน้นผลิตภาพสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Productive Welfare)”

นางนภา กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังมีความท้าทายการพัฒนาในหลายมิติ โดยเฉพาะมิติทางสังคม การยกระดับรายได้ของประชาชน การแก้ปัญหาด้านความยากจนและความเหลื่อมล้ำ พัฒนาคุณภาพการให้บริการ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่นักสังคมสงเคราะห์วิชาชีพ ผู้ปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ และนักสังคมสงเคราะห์อาสาสมัคร จะต้องดำเนินงานเชิงรุก ในการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายและประชาชน ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ รัฐบาลได้ประกาศให้สังคมไทยเป็นสังคมสวัสดิการถ้วนหน้า แต่ยังพบว่า มีจุดอ่อนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ที่เน้นการให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้า ไม่สามารถส่งเสริมศักยภาพของคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ดังนั้น เพื่อสนับสนุนระบบสวัสดิการเดิมให้บรรลุเป้าหมายการจัดสวัสดิการสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ จึงได้นำเสนอการขับเคลื่อน นวัตกรรมสวัสดิการสังคม  Productive Welfare สวัสดิการเพื่อการพัฒนาและพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนสร้างทางเลือกของระบบสวัสดิการพึ่งตนเอง โดยการพัฒนาระบบช่วยเหลือตนเอง (Self Help) ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาตนเอง อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต สอดคล้องตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

นางนภา กล่าวต่อว่า Productive Welfare เป็นนวัตกรรมที่ให้สวัสดิการจากการให้เปล่าเป็นการจัดสวัสดิการที่ตรงกับสภาพปัญหาและความต้องการของผู้รับบริการ เน้นการมีส่วนร่วม และพัฒนาตนเองจากกลไกสวัสดิการที่ได้รับ โดยใช้กลไกขับเคลื่อนผ่านเครือข่ายชุมชนและทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ หน่วยงานในพื้นที่ (อปท.) ภาคธุรกิจและประชาสังคม (CSR และ SE) อพม. /ภาคีเครือข่าย รวมทั้งการ empowerment ให้ผู้รับบริการเป็นผู้มีศักยภาพ สามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีตลอดชีพ  ทั้งนี้เป็นรูปแบบการจัดสวัสดิการที่ต้องการให้เกิดความ “เป็นธรรม” เพราะ “ทำเป็น” ควบคู่ไปกับระบบสวัสดิการที่มีอยู่เดิม จึงได้กำหนดรูปแบบ (Model) เพื่อขับเคลื่อนภายใต้การเชื่อมโยงใน 3 ประเด็น  คือ 1) ลดภาระ 2) ชุมชนขับเคลื่อน และ 3) สร้างมูลค่าศักยภาพผู้ใช้บริการ นำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีมาช่วยในการขับเคลื่อน มุ่งเน้นตามแนวทางในการพัฒนาประเทศ “Thailand 4.0” ที่ “ทำน้อย ได้มาก” โดยดำเนินการ ดังนี้ 1) วางแผนให้ความช่วยเหลือด้วยการใช้ฐานข้อมูล Big Data ของผู้ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มาวิเคราะห์ด้วยระบบ Business Intelligence ผ่านโปรแกรม Tableau นำไปสู่การวางแผนในการให้ความช่วยเหลือ 2) สนับสนุนความช่วยเหลือและองค์ความรู้จาก CSR และ SE  เน้นการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมของผู้รับบริการ 3) ใช้เทคโนโลยีเพื่อการบริหารจัดการความช่วยเหลือรายกรณี ผ่าน Application เครือข่าย Internet ด้วยการใช้ระบบข้อมูลร่วมกันของเครือข่าย ทีม Case Management (CM) บน Mobile Application  4) นวัตกรรมในการประเมินตนเอง (Self-Assessment) เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รู้จักสถานการณ์ตนเองและมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการรับสวัสดิการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ตรงเป้าหมาย

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้นำร่องการขับเคลื่อน ใน 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดราชบุรี น่าน สุโขทัย เพชรบูรณ์ ขอนแก่น สงขลา และภูเก็ต โดยมี Quick Win ที่จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีเป้าหมายที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้บริการเพื่อให้สามารถเปลี่ยนจากการเป็นผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง เป็นผู้ที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ และเป็นผู้ที่สามารถผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของชาติได้ต่อไป นางนภา กล่าวในตอนท้าย

*******************************************