วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ลงพื้นที่เยี่ยมชมวัดมหาธาตุแหลมสัก ศาลเจ้าซกโป้ซีเอี๋ย และเยี่ยมชมกิจกรรมของชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนด้วยพลัง บวร ชุมชนบ้านแหลมสัก “เที่ยวชุมชนยลวิถี” ตำบลแหลมสัก อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ โดยมี นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายประสพ เรียงเงิน รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางศศิฑอณร์ สุวรรณมณี ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม หัวหน้าส่วนราชการ วัฒนธรรมจังหวัดในเขตภาคใต้ฝั่งอันดามัน ผู้นำชุมชน และชาวชุมชนเข้าร่วม
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ชุมชนแหลมสัก จ.กระบี่ มีความโดดเด่นด้านวัฒนธรรม โดยเป็นแหล่งรวมของผู้คนที่มีวัฒนธรรมหลากหลาย ได้แก่ ชาวไทยพุทธ ชาวไทยมุสลิม และชาวไทยเชื้อสายจีน ย้ายถิ่นฐานมาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่แหลมสัก ซึ่งชุมชนของกลุ่มชนทั้งสามวัฒนธรรมเกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกันคือ ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ โดยมีการแต่งงานระหว่างเชื้อชาติผสมผสานกันอย่างกลมกลืน และมีศาสนสถานสำคัญของแต่ละศาสนา ได้แก่ วัดมหาธาตุแหลมสัก มัสยิดสอลาฮุดดีน และศาลเจ้าซกโป้ซีเอี๋ย เป็นสิ่งเชื่อมโยงจิตใจถึงกัน และมีพื้นที่สามแยกวัฒนธรรมเป็นศูนย์กลางของชุมชน นอกจากนี้ ยังมีถ้ำชาวเล เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และธรรมชาติที่สำคัญ ที่บริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน รวมถึงมีสินค้าวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีอัตลักษณ์อันโดดเด่นและเป็นที่นิยม อาทิ ผ้าปาเต๊ะ ชุดบาบ๋าย่าหยา กางเกงผ้าปาเต๊ะร่วมสมัย เป็นต้น ซึ่งวธ.จะส่งเสริมชุมชนแห่งนี้ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อให้คนไทยและชาวต่างชาติเข้ามาเที่ยวชมวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอันงดงาม โดยใช้โมเดล BCG กระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน
นายอิทธิพล กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรมยังได้สนับสนุนแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน พ.ศ. ๒๕๖๒ – ๒๕๖๕ โดยมุ่งพัฒนาศักยภาพของชุมชนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม เพื่อสร้างรายได้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมถึงส่งเสริมและอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าให้คงความเป็นอัตลักษณ์แห่งอันดามัน โดยมอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (สป.วธ.) ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดดำเนินการจัดกิจกรรมและโครงการต่างๆ เช่น การส่งเสริมศักยภาพการท่องเที่ยวชุมชนและสถานประกอบการอาหารพื้นเมือง อาหารโบราณ และอาหารฮาลาล เพื่อต่อยอดที่ยูเนสโกประกาศให้ภูเก็ตเป็นเมืองสร้างสรรค์อาหารโลก รวมทั้งร่วมกับทุกภาคส่วนจัดงาน “กระบี่เมืองศิลปะ” เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดกระบี่และจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน และขยายผลตลาดวัฒนธรรม ถนนสายวัฒนธรรมเมืองเก่าตะกั่วป่า จ.พังงา เพื่อส่งเสริมศิลปินและผู้ประกอบการด้านวัฒนธรรมให้มีอาชีพ มีรายได้ และสามารถฟื้นตัวจากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ใช้ “Soft Power” ความเป็นไทยและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Economy) ของไทยในสาขาต่างๆ เช่น ทัศนศิลป์ การออกแบบ อาหาร งานเทศกาล และประเพณี โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเตรียมความพร้อมเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศในช่วงการเปิดประเทศ