รมว.ทส. เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อมอบหมายการปฏิบัติงานและลงนามบันทึกข้อตกลง พื้นที่ป่าอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำเสื่อมสภาพ

(11 ก.พ.62) พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(รมว.ทส.) เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อมอบหมายการปฏิบัติงานและลงนามบันทึกข้อตกลงการมอบหมายให้ปฏิบัติงานในการจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำเสื่อมสภาพ ร่วมด้วยนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายเฉลิมชัย ปาปะทา รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์และหัวหน้าหน่วยภาคสนามที่เกี่ยวข้อง ร่วมการประชุมด้วย ในวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ณ ห้องประชุม ๑ ชั้น ๔ อาคารสหกรณ์ออมทรัพย์กรมป่าไม้ จำกัด กทม.

สถานการณ์ความขัดแย้งต่อการใช้ทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ ซึ่งเกิดขึ้นจากรูปแบบการถือครองพื้นที่ในผืนป่าอนุรักษ์ นับตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา ส่งผลให้พื้นที่ป่าของประเทศมีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นพลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(รมว.ทส.) จึงได้มอบนโยบาย“การจัดการป่าไม้ไทยอย่างยั่งยืน” เพื่อสร้างความตระหนักด้านการอนุรักษ์ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยได้วางกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน แก่ชุมชนที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ทั้งก่อนและหลังมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 และมอบหมายให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เดินหน้าสำรวจการครอบครองที่ดิน ภายใต้แผนปฏิบัติงาน “การจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำเสื่อมสภาพ”

โดยสำรวจขอบเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ยังมีสภาพเป็นป่าสมบูรณ์ และขอบเขตพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุก ให้ชุมชน หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมจัดทำฐานข้อมูลเพื่อใช้บริหารจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มเติม ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญในปฏิบัติการทวงคืนพื้นที่ป่า และฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม

สำหรับแผนปฏิบัติการดังกล่าว มีขั้นตอนสำคัญ ประกอบด้วย

(1) รวบรวมข้อมูลวิเคราะห์แนวพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ถูกบุกรุก

(2) จัดทำโครงการควบคุมพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า อย่างมีส่วนร่วม

(3) ประชุมแผนการปฏิบัติงานเพื่อดำเนินการสำรวจตรวจสอบพื้นที่เป้าหมาย หรือพื้นที่ที่ถูกบุกรุก

(4) ประชาสัมพันธ์ สำรวจฐานข้อมูลเศรษฐกิจสังคม ประชุมชี้แจงกำหนดกรอบกติกากับชุมชน หมู่บ้านเป้าหมาย

(5) เดินสำรวจขอบเขตพื้นที่บุกรุกร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

(6) จัดทำแผนที่ขอบเขตพื้นที่ถูกบุกรุกและป่าสมบูรณ์

(7) ซ้อนทับภาพถ่ายดาวเทียม ปี พ.ศ. 2557 (หลังวันที่ 17 มิถุนายน 2557)

(8) เดินตรวจสอบขอบเขตแปลงบุกรุกหลังปี พ.ศ. 2557 ร่วมกับชุมชนในพื้นที่เขตควบคุม

(9) จัดทำฐานข้อมูลพื้นที่ที่ถูกบุกรุกหลังปี พ.ศ. 2557

(10) นำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า ระดับจังหวัด

แนวทางดำเนินการพื้นที่ที่ถูกบุกรุก

หากมีการใช้พื้นที่อยู่ก่อนวันที่ 30 มิ.ย. 2541 ให้มีการพิสูจน์สิทธิตามมติ ครม. 30 มิ.ย. 41 หากพบการบุกรุกหลัง 17 มิถุนายน 2557 จะดำเนินการยึดคืนและดำเนินคดี และจัดทำโครงการฟื้นฟูพื้นที่ป่าอนุรักษ์ต่อไป ซึ่งหากตรวจพบการบุกรุกระหว่าง 30 มิ.ย. 2541 ถึง 17 มิถุนายน 2557 ให้ทำการตรวจสอบคุณสมบัติว่า ผู้บุกรุกเป็นใคร หากเป็นผู้ยากไร้ มีรายได้น้อย จะสำรวจข้อมูลด้านเศรษฐกิจ พร้อมจัดเวทีชี้แจง   ทำแผนพัฒนาชุมชนต้นน้ำและการใช้ประโยชน์พื้นที่ตามหลักการจัดการลุ่มน้ำที่สอดคล้องกับภูมิสังคม และฟื้นฟูพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวให้เป็นการจัดการอย่างยั่งยืน แต่หากบุกรุกโดยนายทุน จะยึดคืน ดำเนินคดี และจัดทำโครงการฟื้นฟูพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทดแทน

นับตั้งแต่เริ่มแผนปฏิบัติงานจนถึงวันนี้ การจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำเสื่อมสภาพ ได้ดำเนินการในพื้นที่ไปแล้วทั้งสิ้น 293 แห่งทั่วประเทศ ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติ จำนวน 154  แห่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จำนวน 62 แห่ง และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า จำนวน 77 แห่ง

จากข้อมูลพื้นที่ตามประกาศ มีพื้นที่ป่าอยู่ 71,302,424.92 ไร่ เป็นพื้นที่ป่าสมบูรณ์ 66,080,401.73 ไร่ เป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ 5,222,023.18 ไร่ ในจำนวนพื้นที่ใช้ประโยชน์ หากแบ่งพื้นที่   บุกรุกตามช่วงเวลา จะได้ว่ามีพื้นที่บุกรุกก่อน 30 มิถุนายน 2541 ทั้งหมด 3,662,088.70 ไร่ พื้นที่บุกรุกระหว่าง 30 มิถุนายน 2541 ถึง 17 มิถุนายน 2557 จำนวน 1,204,166.80 ไร่ และพื้นที่บุกรุกหลัง 17 มิถุนายน 2557 จำนวน 56,935.67 ไร่ และเป็นพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ จำนวน 298,832.02 ไร่

ด้วยการบริหารจัดการข้อมูลที่มีอย่างเป็นระบบร่วมกับทุกภาคส่วน จนเกิดความเข้าใจร่วมกัน นำไปสู่การบริหารจัดการพื้นที่ต่อไป เช่น การใช้ระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ หรือ Smart Patrol ดูแลผืนป่าที่ยังสมบูรณ์ พื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิถูกตรวจสอบว่าได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบาย ระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง  ขณะที่ชุมชนสามารถอยู่อาศัยในพื้นที่ภายใต้กรอบระเบียบและกติกาที่ทำโดยกระบวนการแบบมีส่วนร่วม สร้างความเข้าใจที่ตรงกัน ลดความขัดแย้งเรื่องการใช้ทรัพยากร ชุมชนก็สามารถอยู่กับป่าได้อย่างสันติสุข และเมื่อพื้นที่ป่าอนุรักษ์ได้รับการฟื้นฟู ไม่ถูกบุกรุกเพิ่มเติม กรมอุทยานแห่งชาติฯ มีเครื่องมือติดตามประเมินผล ก็จะสามารถรักษาผืนป่าไว้ได้ตามเป้าหมายของแผนปฏิบัติงาน “การจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำเสื่อมสภาพ” ได้ต่อไป

*********************************