กทม. ระดมความคิดเห็น ศึกษาแนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัย ก่อนขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติจริง

(15 พ.ย.64) เวลา 09.00 น. : นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อนำเสนอผลการศึกษาพื้นที่จริงที่เป็นตัวอย่างการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในเมือง และประชุมระดมความคิด (Brainstorming Workshop) และการประชุมสนทนากลุ่ม (Focus Group) ในการกำหนดภาพอนาคต (Scenario) ที่เหมาะสมสามารถขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติงานได้จริงสำหรับหน่วยปฏิบัติงานด้านที่อยู่อาศัยของกรุงเทพมหานคร โดยมี ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักพัฒนาสังคม ผู้บริหารสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) การเคหะแห่งชาติ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) ผู้บริหารเขต และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี ณ ห้องประชุมปรินซ์ บอลรูม 2-3 โรงแรมปรินซ์ พาเลซ มหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย

กรุงเทพมหานคร โดยสำนักพัฒนาสังคม มีภารกิจในการจัดทำแผนพัฒนาที่อยู่อาศัย สำหรับประชาชนและรับผิดชอบในการนำยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายของรัฐบาล แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร และนโยบายของกรุงเทพมหานครด้านที่อยู่อาศัย ไปสู่การปฏิบัติ โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน และกำหนดเป็นแนวทาง แผนการดำเนินงาน ให้กับสำนักงานเขต หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมสนับสนุน เกี่ยวกับการจัดหา และพัฒนาที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ เพื่อให้การกำหนดแนวทาง แผนการดำเนินงาน และแผนปฏิบัติการของกรุงเทพมหานครมีความชัดเจน สำนักพัฒนาสังคมจึงได้ดำเนินการว่าจ้างศูนย์บริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) เป็นที่ปรึกษา เพื่อดำเนินงานศึกษาวิเคราะห์ บทบาท พันธกิจของหน่วยงานที่ปฏิบัติงานด้านที่อยู่อาศัยเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสมกับบริบทของกรุงเทพมหานคร โดยวันนี้ เป็นการประชุมเพื่อนำเสนอผลการศึกษาพื้นที่จริงที่เป็นตัวอย่างการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในเมือง และประชุมระดมความคิด(Brainstorming Workshop) และการประชุมสนทนากลุ่ม (Focus Group) ในการกำหนดภาพอนาคต (Scenario) ที่เหมาะสมสามารถขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติงานได้จริง สำหรับหน่วยปฏิบัติงานด้านที่อยู่อาศัยของกรุงเทพมหานคร ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการเขต หัวหน้าฝ่ายและเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม ผู้แทนภาคประชาชน ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสิ้น 600 คน กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การนำเสนอผลการศึกษาพื้นที่จริงที่เป็นตัวอย่างการพัฒนาที่อยู่อาศัย 3 กรณีศึกษา การเสวนา “การพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย-ที่อยู่อาศัยสำหรับข้าราชการและลูกจ้างกรุงเทพมหานคร และชาวกรุงเทพฯ ทุกคน” การนำเสนอผล “ภาพอนาคตที่อยู่อาศัยของกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2575” “ตัวอย่างโครงการและแนวทางการพัฒนาด้านที่อยู่อาศัย” และ (ร่าง) “คู่มือดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับหน่วยงานปฏิบัติงานด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย”

ทั้งนี้ กิจกรรมที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ประกอบด้วย

1.การสัมภาษณ์เชิงลึก ผู้บริหารระดับนโยบายของกรุงเทพมหานคร

2.การประชุมเชิงปฏิบัติการหรือประชุมสนทนากลุ่ม (Focus Group) เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบการจัดทำโครงการ/กิจกรรมสำคัญในการพัฒนาที่อยู่อาศัยของแต่ละพื้นที่ทั้ง 6 กลุ่มเขตๆ ละ 1 ครั้ง ณ ห้อง 401 อาคารมาลัย หุวะนันท์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

3.การประชุมเชิงปฏิบัติการโดยการศึกษาพื้นที่จริงที่เป็นตัวอย่างการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในเมืองฯ จำนวน 3 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 18 ต.ค.64 ณ สหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงชุมชนวัดพระยาไกร จำกัด เขตบางคอแหลม ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 19 ต.ค.64 ณ สหกรณ์เคหสถานบ่อฝรั่งริมน้ำพัฒนา จำกัด เขตจตุจักร และครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 29 ต.ค.64 ณ สหกรณ์เคหสถานปทุมธานีโมเดลจำกัด อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ที่อยู่อาศัย เป็นปัจจัยที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ที่หล่อหลอมสมาชิกครอบครัวให้เป็นหนึ่งเดียว มีความปลอดภัยและมั่นคงในการใช้ชีวิต รัฐบาลจึงได้มีนโยบาย และกำหนดแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัย ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560- 2579) ขึ้น เพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำสร้างโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการและบริการของรัฐ โดยเฉพาะการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ การประกอบอาชีพ การมีรายได้ที่มั่นคง มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และได้กำหนดวิสัยทัศน์ “คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579“ ซึ่งสอดรับกับนโยบายการพัฒนาที่อยู่อาศัยในระดับสากล ได้แก่ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) โดยในแผนแม่บท ฯ ดังกล่าว ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ให้ภาคเอกชนและท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่อยู่อาศัย และเสริมสร้างและพัฒนากลไกการบูรณาการ สร้างขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการด้านที่อยู่อาศัย ดังนั้น กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลเมืองและประชาชน ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 ในการปรับปรุงแหล่งชุมชนแออัดและจัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย จึงต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้การพัฒนาที่อยู่อาศัยบรรลุตามเป้าหมายที่แผนแม่บทฯ กำหนดไว้ และเป็นการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวกรุงเทพมหานครให้เป็นมหานครแห่งความสุขที่แท้จริง โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การระดมความคิดเห็นจากผู้แทนประชาชน ข้าราชการผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ทั้ง 50 สำนักงานเขต และภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ตลอดจนการศึกษา การประมวลผล การวิเคราะห์ข้อมูลอย่างครบวงจร ของคณะที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในด้านสิ่งแวดล้อม การพัฒนาเมือง การบริหารและการพัฒนาองค์กรจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ครั้งนี้ จะทำให้เกิดแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยของกรุงเทพมหานคร ระยะ 10 ปี และแผนปฏิบัติการที่อยู่อาศัยกรุงเทพมหานคร ระยะ 5 ปี อันเป็นรูปธรรม ซึ่งกรุงเทพมหานครจะนำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานด้านที่อยู่อาศัยเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความสุขของประชาชนกรุงเทพมหานคร ต่อไป
————