ปัญหานอนไม่หลับ หลับยาก หรือนอนไม่ได้คุณภาพ เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญหนึ่งที่จำเป็นต้องได้รับการดูแล เพราะหากเราปล่อยให้ร่างกายไม่ได้รับการพักผ่อนอย่างเต็มที่ ย่อมเป็นต้นเหตุของการเจ็บป่วยอื่นตามมาอย่างแน่นอน ซึ่งการนอนส่งผลต่อคุณภาพชีวิต สอดคล้องกับการวิจัยในต่างประเทศที่ว่า การนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพ นอกจากจะรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวันแล้ว อาจมีผลทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตเร็วขึ้น
ตำรับยา ศุขไสยาศน์ เป็นตำรับยาที่มีมาตั้งแต่สมัยพระนารายณ์ ระบุไว้ว่า “ยาศุขไสยาศน์ ให้เอา การบูร 1 ส่วน ใบสะเดา 2 ส่วน สหัสคุณเทศ 3 ส่วน สมุลแว้ง 4 ส่วน เทียนดำ 5 ส่วน โกฐกระดูก 6 ส่วน ลูกจันทน์ 7 ส่วน ดอกบุนนาค 8 ส่วน พริกไท 9 ส่วน ขิงแห้ง 10 ส่วน ดีปลี 11 ส่วน ใบกัญชา 12 ส่วน ทำเป็นจุณละลายน้ำผึ้งเมื่อจะกินเสกด้วยสัพพีติโย 3 จบ แล้วกิน พอควร แก้สรรพโรคทั้งปวงหายสิ้น มีกำลังกินเข้าได้ นอนเป็นศุขนักแลฯ”
ชื่อยา ศุขไสยาศน์ ก็บ่งบอกความหมาย และสรรพคุณของยาตำรับนี้ได้อย่างนี่ นั่นก็เพราะ ศุขไสยาศน์ เป็นตำรับยาที่ช่วยเรื่องการนอนไม่หลับ นอนหลับยาก หลับไม่สนิท รวมถึงยังช่วยเจริญอาหารได้อีกด้วย โดยรูปแบบ และขนาดของการใช้ยาจะพิจารณาตามอาการของผู้ใช้เป็นหลัก
ยาศุขไสยาสน์ มีตัวยาร้อนแก้ลมกองหยาบเป็นหลัก แทรกยาบำรุงหัวใจ ยาเจริญไฟธาตุ มีใบกัญชาเป็นตัวยาเด่น น่าจะดีดีกับคนที่ไฟธาตุย่อยอาหารไม่ดี อ่อนเพลีย ระเหี่ยใจ ทำให้นอนหลับไม่ดี หรือกล่าวโดยภาพรวมว่า ยานี้ทำให้ลมหรือพลังงานพัดในกายอย่างทั่วถึง จึงส่งผลให้กินข้าวได้และนอนหลับ จากประสบการณ์การจ่ายยาในผู้ป่วยที่มีภาวะนอนไม่หลับ พบว่าหลังจากใช้แล้ว คุณภาพการนอนหลับการนอนหลับของผู้ป่วยดีขึ้นตั้งแต่ครั้งแรกของการรักษา รวมทั้งสามารถลดการใช้ยานอนหลับได้ 52% และสามารถหยุดใช้ยานอนหลับ 32% ตั้งแต่ 1 เดือนแรกของการรักษา นับว่าเป็นตำรับยาทางเลือกที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีภาวะนอนหลับยาก นอนหลับไม่สนิท หรือต้องการลดาการใช้ยานอนหลับ ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตและไม่ทำให้อ่อนเพลียในระหว่างวัน
ข้อห้ามใช้สำหรับยาตำรับนี้ก็คือ ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ที่มีไข้ และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ห้ามใช้ร่วมกับยาที่มีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง เช่น ยานอนหลับ และยาต้านการชัก รวมทั้งแอลกอฮอล์ หรือสิ่งที่มี แอลกอฮอล์ผสมอยู่
ควรระวังการรับประทานร่วมกับยาในกลุ่มสารกันเลือดเป็นลิ่ม (anticoagulant) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด(antiplatelets) ควรระวังการใช้ร่วมกับยา phenytoin, propranolol, theophylline และ rifampicin เนื่องจากตำรับนี้มีพริกไทยเป็นส่วนประกอบ ควรระวังการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของตับ ไต เนื่องจากอาจเกิดการสะสมของการบูร และเกิดพิษได้ ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคแผลเปื่อยเพปติก และโรคกรดไหลย้อน เนื่องจากเป็นตำรับยารสร้อน ยานี้อาจทำให้ง่วงซึมได้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล
สำหรับท่านที่สนใจและต้องการพบกัยตำรับยาศุขไสยาสน์ รวมถึง ตรวจ-ปรึกษา กับแพทย์แผนไทย สามารถพบกันได้ที่งานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 18 วันที่ 22-26 ธันวาคม 2564 ณ พารากอนฮอลล์ ชั้น5 สยามพารากอน กรุงเทพฯ
Facebook : สถาบันการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร
ปรึกษาคลินิกแพทย์แผนไทยออนไลน์ https://lin.ee/47PRVjiFz
ฟังพอดแคสต์ ศุขไสยาศน์ : https://youtu.be/oEFHmKVjF74