ภาคเอกชนพร้อมร่วมพาณิชย์สนับสนุน ใช้ Blockchain ช่วย Trade Facilitation & IP

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับสถานทูตอังกฤษ จัดงานรับฟังความเห็นสำหรับการนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation) และบริหารทรัพย์สินทางปัญญา (IP : Intellectual Property) ในวันที่ 31 มกราคม และ 5 กุมภาพันธ์ 2562 ตามลำดับ โดยอาจารย์ที่ปรึกษาทั้ง 2 โครงการฯ ได้นำเสนอผลการศึกษาเบื้องต้น พบว่าเทคโนโลยี Blockchain ช่วยได้ทั้ง 2 เรื่อง รวมทั้งภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นด้วยกับแนวคิดข้อเสนอและยินดีให้ความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนข้อเสนอสู่การปฏิบัติจริงต่อไป

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า Blockchain เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่จะมาปฏิวัติเศรษฐกิจและสังคมในยุคดิจิทัล ช่วยเสริมสร้างความไว้วางใจ (Trust Building) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมการค้าสมัยใหม่ โดยเฉพาะการค้าออนไลน์รูปแบบต่างๆ ทั้งนี้ สนค. เล็งเห็นถึงความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในงานของกระทรวงพาณิชย์ได้หลายอย่าง เช่น การจดทะเบียน (Registration) การสร้างระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability)  การจดแจ้งความเป็นเจ้าของ (Ownership) การสร้างความมั่นใจให้ E-Commerce เป็นต้น โดยเห็นว่า การใช้ Blockchain ในงานกระทรวงพาณิชย์จะช่วยลดปัญหาความไม่โปร่งใส ลดกรณีพิพาทระหว่างคู่สัญญา ลดต้นทุนการประกอบธุรกิจของ SMEs และผู้ประกอบการค้าต่างๆ ดังนั้น สนค. จึงเกิดโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในงานกระทรวง 2 โครงการ ได้แก่ Blockchain กับ Trade Finance & Trade Facilitation (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นที่ปรึกษาฯ) และ Blockchain กับ IP (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นที่ปรึกษา) ซึ่งได้ผลการศึกษาเบื้องต้นและจัดงานรับฟังความเห็นข้างต้น  นอกจากนี้ สนค. อยู่ระหว่างเสนอคำของบประมาณปี 63 คือโครงการศึกษาความเป็นไปได้และพัฒนาต้นแบบ Blockchain กับ Traceability สินค้าเกษตร (ข้าวอินทรีย์) ให้กับผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) ด้วย

ผลการศึกษาเบื้องต้นมีข้อเสนอแนะให้ทำ Quick Win อาทิ การเชื่อมโยงหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (C/O) และหนังสือรับรองการส่งออกของกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เข้ากับระบบ Blockchain ของธนาคารที่มีอยู่แล้ว รวมทั้ง การนำข้อมูลทะเบียน IP ที่อยู่ในระบบ IP Mart ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา (ทป.) เข้าสู่ฐานข้อมูล Blockchain และการพัฒนามาตรฐานกลางการจดแจ้งลิขสิทธิ์ผลงานวรรณกรรม โดยร่วมมือกับผู้ให้บริการ E-Book รวมทั้ง มีข้อเสนอโครงการระยะกลางและระยะยาว เช่น การจัดทำระบบ Cross-border Blockchain หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า และหนังสือรับรองการส่งออกของ คต. กับประเทศผู้นำเข้า การพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูล IP บน Blockchain การประเมินมูลค่า IP การนำ IP ไปใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ และการพัฒนาระบบการจดทะเบียนและตรวจสอบย้อนกลับสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เป็นต้น ซึ่งจะช่วยผู้ประกอบการรายย่อยและคนตัวเล็กได้มาก

ซึ่งในส่วนของ Quick Win สนค. จะทำต่อไปกับกรมการค้าต่างประเทศเรื่อง Trade Finance & Trade Facilitation สำหรับ IP อาจจะทำโครงการร่วมกับผู้ประกอบการภาคเอกชนที่ได้นำ Blockchain มาใช้แล้ว เช่น เรื่องการจดแจ้งลิขสิทธิ์ผลงานวรรณกรรม E-Book เป็นต้น นอกจากนี้ ในช่วงเดือนมีนาคม สนค. จะมีการจัด Hackathon เพื่อระดมสมองและประกวดความคิดเรื่องการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมทั้ง Blockchain มาใช้ในภาคเกษตรไทยต่อไป

ด้านผู้เข้าร่วมสัมมนาได้แสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง โดยภาพรวมเห็นด้วยกับแนวคิดและข้อเสนอโครงการฯ อย่างไรก็ตามมีประเด็นเชิงเทคนิค มาตรฐาน และกฎระเบียบที่ควรหารือร่วมกันต่อไป ประการสำคัญ ควรบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยภาครัฐควรมีบทบาทอำนวยความสะดวก สร้างความเชื่อมั่นและความโปร่งใสในการจดทะเบียน การเข้าถึงข้อมูล และการให้บริการต่างๆ ส่วนภาคเอกชนควรเน้นเรื่องการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์และเชื่อมโยงสู่เชิงพาณิชย์ โดยที่ประชุมเชื่อมั่นว่า Blockchain และเทคโนโลยีอื่นๆ จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจการค้าไทยให้ก้าวสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ในอนาคต

ท้ายนี้ นางสาวพิมพ์ชนกฯ กล่าวว่า “โจทย์สำคัญคือการค้าไทยในอนาคตควรเป็นอย่างไร?? ในวันนี้ทุกหน่วยงานที่มาร่วมสัมมนาคงไม่มีใครไม่เห็นความสำคัญของเทคโนโลยี โดยภาคเอกชนเห็นความสำคัญและปรับตัวเร็วกว่าภาครัฐ ปัจจุบันไทยยังมีนวัตกรรมไม่มาก อาจจะสร้าง Value-Added เพิ่มในระบบเศรษฐกิจได้ช้า แต่โลกอนาคตจะแข่งกัน   ที่เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ ซึ่ง IP เป็นหัวใจที่เชื่อมโยงทั้งหมดเข้าด้วยกัน ดังนั้น เราจึงต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบ IP เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยได้ใช้ประโยชน์จาก IP ของตัวเอง และเป็นฐานให้สร้างนวัตกรรมให้ประเทศต่อไป แต่ในระยะสั้น อาจต้องนำเข้าเทคโนโลยีหรือเป็นพันธมิตรกับนักลงทุนต่างประเทศ ส่วนในระยะกลางถึงยาว ควรพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทยเองมากขึ้น ซึ่งโครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่จะพัฒนาและช่วยยกระดับเศรษฐกิจการค้าไทยในอนาคตได้แน่นอน

**************************************************

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์
สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย
สถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและบ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์