“บอร์ดสุขภาพแห่งชาติ” เห็นชอบหลักการ “มาตรฐานแผนการดูแลล่วงหน้าสำหรับประเทศไทย (Thai standard advance care plan form)” เพื่อเป็นมาตรฐานกลางให้ทุกสถานพยาบาลหรือหน่วยงานต่างๆ ประยุกต์ใช้ร่วมกัน รองรับการดูแลแบบประคับประคองและมาตรา 12 พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 รับมือสังคมสูงวัย-อุบัติการณ์โรคร้ายแรงและโรคที่คุกคามต่อชีวิตที่พุ่งสูงขึ้น และรับทราบความคืบหน้าการจัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 และงานสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2 รวมทั้งผลการประเมินคุณธรรมความโปร่งใส ของ สช. ที่อยู่ในระดับ “ดีมาก”
การประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) หรือบอร์ดสุขภาพของประเทศ ครั้งที่ 6/2564 เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2564 ซึ่งมี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานการประชุม มีมติรับทราบความคืบหน้าการจัดสมัชชาสุขภาพแหงชาติ ครั้งที่ 14 พ.ศ. 2564 และการจัดสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2564 ซึ่งขณะนี้มีความพร้อมเต็มรูปแบบ ทั้งสถานที่ กิจกรรม ระเบียบวาระ ผู้เข้าร่วม และแผนการสื่อสารประชาสัมพันธ์
สำหรับงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 มีระเบียบวาระเข้าสู่การพิจารณาทั้งสิ้น 3 ระเบียบวาระ ได้แก่ 1. การคุ้มครองการเข้าถึงบริการสุขภาพของกลุ่มประชากรเฉพาะในภาวะวิกฤตอย่างเป็นธรรม 2. การจัดการการสื่อสารอย่างมีส่วนร่วมในวิกฤตสุขภาพ และ 3. การสร้างเสริมสุขภาวะสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในวิกฤตโควิด-19 โดยจะจัดขึ้นภายใต้กรอบคิด (ธีม) “พลังพลเมืองตื่นรู้ สู้วิกฤตสุขภาพ” ระหว่างวันที่ 15-16 ธ.ค. 2564 ในรูปแบบผสมผสาน (Hybrid Assembly) ด้วยการประชุมออนไลน์ผ่าน Zoom Meeting และการจัดงาน ณ หอประชุมใหญ่ สำนักงาน TOT ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมในทุกช่องทางนับหมื่นคน
ขณะที่ การจัดสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2564 จะจัดขึ้นในธีม “พลิกวิกฤติเป็นโอกาส ร่วมสร้างมหานครสุขภาวะ วิถีใหม่” มีระเบียบวาระเข้าสู่การพิจารณาทั้งสิ้น 2 ระเบียบวาระ ได้แก่
1. การสานพลังพัฒนาพื้นที่สาธารณะเพื่อสุขภาวะของชุมชน
2. การพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิในกรุงเทพมหานครเพื่อรองรับภาวะวิกฤติ
โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 25 พ.ย. 2564 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น และถ่ายทอดสดผ่านทาง FB Live ของกรุงเทพมหานคร และ Health Station ของ สช.
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รมช. สาธารณสุข กล่าวว่า สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ถือเป็นนวัตกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพ และหาฉันทมติในประเด็นหรือนโยบายสาธารณะของประเทศ ที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าเกิดรูปธรรมนโยบายและการขับเคลื่อนอย่างหลากหลาย ซึ่งทั้งหมดนำไปสู่ความร่วมไม้ร่วมมือในการแก้ปัญหา จัดทำข้อเสนอด้วยหลักการการมีส่วนร่วม บนความเห็นพ้องของทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นนั้นๆ
“สำหรับงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 พ.ศ. 2564 มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะมีการแสวงหาฉันทมติใน 3 ระเบียบวาระแล้ว ยังจะมุ่งไปสู่การสร้างเวทีแห่งการเฉลิมฉลองและการกล่าวถ้อยแถลงพันธะสัญญาร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมในการขับเคลื่อนมติและนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพในทุกระดับ ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ในการจับมือกันทำงานเพื่อสร้างความยั่งยืน และเดินไปสู่สังคมสุขภาวะด้วยกัน” ดร.สาธิต กล่าว
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า งานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 เป็นการต่อยอดความสำเร็จจากการจัดงานครั้งก่อน ปีนี้เน้นการขยายการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน เพื่อให้ประชาชนทุกคนที่สนใจสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากพื้นที่กลางแห่งนี้ร่วมกัน โดยคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ได้นำหลักการสำคัญจาก มาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 เข้ามาเป็นฐานคิดหลัก ด้วยคาดหวังว่าจะดึงประชาชนผู้ที่สนใจ กลุ่มคนด้อยโอกาส กลุ่มคนเปราะบาง เครือข่ายผู้ป่วย นักเรียน นักศึกษา เยาวชนคนรุ่นใหม่ ตลอดจนภาคเอกชน เข้ามาร่วมในกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพเพิ่มเติม
วันเดียวกัน ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบหลักการ “มาตรฐานแผนการดูแลล่วงหน้าสำหรับประเทศไทย (Thai standard advance care plan form)” เพื่อให้ทุกโรงพยาบาลหรือหน่วยงานต่างๆ ประยุกต์ใช้ร่วมกัน รองรับการดูแลแบบประคับประคอง การวางแผนการดูแลล่วงหน้า และการแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข ตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 จะทำให้ผู้ป่วยในระยะสุดท้ายของชีวิตมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ลดค่าใช้จ่ายครอบครัวและประเทศชาติ
ศ.คลินิก นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อดีตอธิบดีกรมการแพทย์ และประธานคณะทำงานจัดทำมาตรฐานแผนการดูแลล่วงหน้าสำหรับประเทศไทย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมายังไม่มีการกำหนดแนวทางที่เป็นมาตรฐานกลางให้หน่วยงานต่างๆ นำไปประยุกต์ใช้ ทางสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กลุ่ม Peaceful death และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันจัดทำมาตรฐานแผนการดูแลล่วงหน้าสำหรับประเทศไทย (Thai standard advance care plan form) ซึ่งถือเป็นฉบับแรกของประเทศไทย โดยมีเนื้อหาสำคัญ 2 องค์ประกอบ คือ
1. แบบฟอร์มมาตรฐานแผนการดูแลล่วงหน้า (Thai Standard advance care plan form) ที่มีด้วยกัน 4 ส่วน คือ ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้วางแผนการดูแลล่วงหน้า, การแสดงเจตจำนงหรือความปรารถนาและแผนการดูแลล่วงหน้าที่ต้องการ, ผู้ตัดสินใจแทน และเมื่อวางแผนการดูแลล่วงหน้าเรียบร้อยแล้วจะต้องทำอย่างไรบ้าง
2. แนวทางการจัดทำ (Standard operation procedures : SOP) ตามแบบฟอร์มมาตรฐานแผนการดูแลล่วงหน้าสำหรับประเทศไทย (Thai Standard advance care plan form)
และตอนท้ายที่ประชุม คสช.ยังได้รับทราบ รายงานผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปี 2564 ของ สช. ที่ประเมินโดยสํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดย สช. ได้คะแนน 90.72 คะแนน อยู่ในระดับ “ดีมาก” เป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน
//////////////////////////////////////////