จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์ของโรคเลปโตสไปโรสิสหรือโรคไข้ฉี่หนู ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 2 พฤศจิกายน 2564 พบผู้ป่วย 779 ราย เสียชีวิต 5 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 35-44 ปี รองลงมา คือ 45-54 ปี และอายุ 25-34 ปี ตามลำดับ ส่วนใหญ่ประกอบชีพเกษตรกร ร้อยละ 32.3 ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ โดยจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับแรกคือ ระนอง พังงา พัทลุง จันทบุรี และยะลา
“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพของสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้จะมีโอกาสพบผู้ป่วยโรคเลปโตสไปโรสิสหรือโรคไข้ฉี่หนูเพิ่มขึ้น เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากพายุหลายลูก จึงทำให้ในหลายพื้นที่ของประเทศเกิดน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลาก โรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) หรือโรคไข้ฉี่หนู พบมากในช่วงฤดูฝน โดยเชื้อจะถูกปล่อยออกมากับปัสสาวะของสัตว์ที่ติดเชื้อ โดยเฉพาะหนูรวมถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ เช่น สุนัข แมว โค แพะ แกะ และมักปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำขังหรือที่ชื้นแฉะ ทำให้ประชาชนอาจได้รับเชื้อโรคดังกล่าวจากการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำเป็นเวลานานได้ โดยเชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล รอยขีดข่วน รอยถลอกตามผิวหนัง เยื่อบุตา จมูก ปาก หรือการไชเข้าทางผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานาน นอกจากนี้ ยังอาจติดต่อได้จากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน กรมควบคุมโรค ขอแนะนำวิธีป้องกันโรคไข้ฉี่หนู ดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำหรือทำความสะอาดบ้านเรือนหลังน้ำลด ควรสวมรองเท้าบูทหรือหรือถุงมือยาง และกรณีมีบาดแผลควรปิดด้วยพลาสเตอร์กันน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้แผลสัมผัสน้ำโดยตรง 2.หมั่นล้างมือด้วยน้ำสบู่และชำระล้างร่างกายทันทีหลังจากเสร็จจากการทำงานหรือลุยน้ำ 3.ทำความสะอาดบ้านเรือนและสิ่งแวดล้อมบริเวณบ้านให้สะอาดไม่มีหนูชุกชุม และ 4.รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่และใส่ภาชนะมิดชิด ควรล้างผัก ผลไม้ ให้สะอาดก่อนนำมารับประทาน ทั้งนี้ หากพบว่ามีอาการป่วยด้วยไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ หนาวสั่น ตาแดง ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422”
******************************************************
ข้อมูลจาก : ทีม SAT / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 6 พฤศจิกายน 2564