วันที่ 6 พฤศจิกายน 2564 กรมสุขภาพจิตแนะนำแนวทางการดูแลบุตรหลานในครอบครัวจากประเด็น #คลับเฮ้าส์toxic ที่กำลังเป็นประเด็นบนโลกโซเชียล ให้เด็กและเยาวชนสามารถพัฒนาตนเองโดยเรียนรู้และเข้าใจความแตกต่าง ลดอคติ ไม่แบ่งแยก และสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลายหรือมีลักษณะพหุวัฒนธรรมได้อย่างมีความสุข
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากเหตุการณ์ล่าสุดที่กำลังเป็นกระแสในโลกโซเชียลมีเดีย เรื่อง #คลับเฮ้าส์toxic นั้น กรมสุขภาพจิตได้มีการติดตามอย่างใกล้ชิด และพบว่าในเหตุการณ์ดังกล่าวมีการใช้ถ้อยคำที่ค่อนข้างรุนแรง อาจมีผลกระทบต่อความรู้สึกของพี่น้องที่มีภูมิลำเนาอยู่ในบางภูมิภาคของไทยเป็นอย่างมาก กรมสุขภาพจิตจึงขอรณรงค์ให้คนไทยทุกคนใช้โซเชียลมีเดียอย่างมีสติ ไม่สร้างความเกลียดชัง ไม่ดูถูก ดูหมิ่น หรือเหยียดหยาม แต่ให้เปิดใจยอมรับและเข้าใจความแตกต่าง ลดความรู้สึกแตกแยกและขัดแย้งการใช้โซเชียลมีเดียอย่างมีคุณภาพจึงไม่ควรไปละเมิดหน้าที่ สิทธิ เสรีภาพของผู้อื่น และไม่ควรใช้พื้นที่สาธารณะในการก่อให้เกิดความเสียหายทางจิตใจต่อคนในสังคมด้วยกันเอง
สังคมไทยนั้นเป็นสังคมแห่งความหลากหลายหรือมีความเป็นพหุวัฒนธรรม มีความผสมผสานของวัฒนธรรมที่หลากหลายมากมาย และเป็นสังคมที่มีค่านิยมเปิดกว้างต่อความแตกต่างที่มีอยู่ ซึ่งการที่คนในสังคมมีถิ่นที่อยู่ วัฒนธรรมในการใช้ชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อความศรัทธา และภาษาถิ่นที่แตกต่างกันนั้น ไม่ได้ทำให้เรามีความเป็นคนไทยแตกต่างกัน ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน และควรได้รับการให้เกียรติเหมือน ๆ กัน ถ้าเราทุกคนทำได้ก็จะช่วยให้สังคมไทยโดยรวมพัฒนาขึ้นและเป็นสังคมแห่งความสุขโดยแท้จริง โดยจากเหตุการณ์นี้ เราอาจใช้เป็นโอกาสในการแนะนำเด็กและวัยรุ่นในครอบครัวเกี่ยวกับความเท่าเทียมกันและการยอมรับความแตกต่าง ในสังคม เพื่อให้เติบโตขึ้นและสามารถใช้ชีวิตสอดคล้องกับสภาพสังคมแห่งความหลากหลายได้อย่างมีความสุข ซึ่งเราสามารถแนะนำได้ดังนี้
1. ให้สังเกตและทำความเข้าใจความเหมือนและความแตกต่างกันของแต่ละคน โดยให้มองเห็นว่าความแตกต่างนั้นเป็นสีสันตามธรรมชาติของทุกสังคม แม้ในบางจุดเราอาจจะมีความแตกต่างกันและมีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง แต่โดยส่วนมากแล้วทุกคนก็ล้วนมีส่วนที่เหมือนกัน และไม่มีอัตลักษณ์ใดที่ด้อยไปกว่ากัน ทุกคนบนโลกมีความเป็นคนเท่าๆ กัน
2. ให้เด็กสามารถตั้งคำถามได้เกี่ยวกับความแตกต่างของแต่ละบุคคล โดยเด็กบางคนอาจจะสงสัยในความแตกต่าง เช่น สีผิว เพศ รูปร่าง ภาษา ศาสนา และวิถีชีวิตของเพื่อน ซึ่งผู้ปกครองสามารถให้คำตอบหรือชวนมาช่วยกันค้นคว้าผ่านแหล่งความรู้ที่หลากหลาย โดยใช้ใจที่เป็นกลาง ปราศจากอคติ
3. เรียนรู้ร่วมกันในครอบครัวผ่านตัวอย่างเหตุการณ์บนโลกโซเชียล เช่น เหตุการณ์การเกลียดชังในอดีต หรือกรณีที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ เนื่องจากแหล่งข้อมูลหลักของเด็กและวัยรุ่นในยุคปัจจุบันมาจากสื่อโซเชียลมีเดียเป็นหลัก เราจึงสามารถหาตัวอย่างการเหยียดและอคติที่เกิดขึ้นและนำมาพูดคุยกันในประเด็นต่าง ๆ เช่น เพราะเหตุใดเหตุการณ์แบบนี้จึงเกิดขึ้น ตัวเรามีความเสี่ยงอย่างไรในการถูกเหยียดหรือแบ่งแยก และเราสามารถปกป้องตนเองได้อย่างไรในอนาคต
4. ชวนทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับผู้คนต่างพื้นที่ หรือกิจกรรมที่มีคนจากหลายวัฒนธรรมมาทำกิจกรรมร่วมกัน ได้มีการพูดคุยในสำเนียงภาษาที่แตกต่างกัน มีอาหารการกินที่แตกต่างกัน หรือแบ่งปันเรื่องขนบธรรมเนียมของแต่ละพื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน ก็จะช่วยทำให้เด็กเปิดโลกและเข้าใจสังคมพหุวัฒนธรรมมากขึ้น นอกจากนี้ ยังอาจหาโอกาสในการเข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านการกลั่นแกล้งและการเหยียด ที่มักมีในชมรมหรือสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ ได้เช่นเดียวกัน
5. ผู้ใหญ่ในครอบครัวควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็กและวัยรุ่น ด้วยการหลีกเลี่ยงการเหยียดความแตกต่าง ไม่ใช้คำบ่งชี้ลักษณะภายนอกของเด็กมาแทนชื่อเด็ก ไม่ชื่นชมลูกเพียงเพราะรูปลักษณ์ภายนอก ไม่ชมเชยลูกโดยเอาไปเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่น เป็นตัวอย่างในการมีความเห็นอกเห็นใจให้ผู้อื่น รวมถึงปฏิบัติต่อเด็กอย่างเท่าเทียม ให้เกียรติ และเคารพสิทธิของเด็กและวัยรุ่นในครอบครัว
***************** 6 พฤศจิกายน 2564